เข้าร่วม MultiplyOpen a Free Shopลงชื่อเข้าใช้งานวิธีใช้English
MultiplyLogo
SEARCH

สมัยแม่เรียนเรื่องร่างกายของเรา แม่เรียนจากรูปในหนังสือ แต่ธีธัชและเพื่อนที่ปฐมธรรมเรียนรู้โดยไปทัศนศึกษาที่ พิพิธภัณฑ์กายวิภาค-คองดอน โรงพยาบาลศิริราช (แม่ว่า..มันเจ๋งสุดๆเลย)  

พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์-คองดอน ก่อตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ เมื่อทางมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ได้ส่งศาสตราจารย์ เอ็ดการ์ด เดวิดสัน คองดอน(Edgar Davidson Congdon) มาสอนวิทยาการแพทย์ตะวันตกให้กับนักศึกษา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมา ศ.นพ. สุด แสงวิเชียร ได้พัฒนาจนเป็นพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์


เราไปกันเป็นกลุ่มเล็กๆ คุณครู 3 ท่าน คือ ครูสุ, ครูเจน และครูจัน  เด็กป.1 มี 7  คนและ ป.2-3 อีก 5 คน ก่อนเข้าไปดู ครูเจนตั้งหัวข้อให้เด็กๆให้ศึกษา 6 ระบบ ได้แก่ ระบบย่อยอาหาร, ระบบหมุนเวียนโลหิต ,ระบบหายใจ ระบบประสาท(ตา หู จมูก ปาก), ระบบกล้ามเนื้อโครงกระดูก และระบบขับถ่าย แต่สำหรับเด็กป.1 นั้น ครูจะเน้นให้บันทึกสิ่งที่ชอบก่อน ยังไม่เป็นเรื่องราวมากเท่ากับพี่ๆป.2-3


ห้องแรกที่เราเข้าไป เป็นห้องกระดูก  จัดแสดงกระดูกและข้อต่อทุกชิ้นในร่างกาย มีทั้งกระดูกแบบเป็นชิ้นๆ กระดูกสะโพก ขา แขน และกระดูกแบบเต็มตัวของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เด็กๆส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการกลัวซึ่งคงเป็นเพราะเคยมากันหลายครั้งแล้ว เมื่อตอนอนุบาลธีธัชก็มากับทางรร.ทุกปี  จะมีก็น้องมดตะนอยก็บ่นว่าหนูต้องฝันร้ายแน่เลย  แต่แม่อ้อก็เห็นหนูนั่งวาดรูปใหญ่เลย 

ภาพประทับใจภาพของแม่อ้อก็รูปนี้เลยค่ะ เด็กๆนั่งกับพื้นไม้วาดรูปโครงกระดูก (ธีธัชคนขวาค่ะ)


ห้องที่สองเป็น ห้องกายวิภาคศาสตร์ทั่วไป เต็มไปด้วยตู้จัดแสดงอวัยวะต่าง ทั้งปอด หัวใจ ตับ ไต ลำไส้ เส้นเลือด วิวัฒนาการเติบโตของเด็กในครรภ์ และฝาแฝดติดกันในลักษณะต่าง ๆ ไม่ใช่แบบแห้งๆ หรือรูปภาพนะคะ โอ้โฮ..เห็นกันเแบบของจริงเป็นชิ้นๆแช่ในน้ำฟอร์มาลีน (ที่นี่เค้าไม่อนุญาติให้ถ่ายรูปค่ะ เลยไม่สามารถถ่ายมาอวดได้ ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ถ่ายแต่รูปเด็กๆเท่านั้น อิ อิ ดูแต่รูปเด็กๆไปนะคะ)


นอกจากนี้ยังมีอาจารย์ใหญ่ซึ่งอยู่แช่อยู่ในกล่องพลาสติกใสขนาดใหญ่ทำให้่เด็กๆได้เห็นร่างกายเต็มตัว มีการตัดขวางตรงส่วนขาเพื่อให้เห็นตั้งแต่กระดูก ชั้นกล้ามเนื้อ ไขมัน และผิวหนัง ส่วนตรงหน้าอกก็ได้เห็นหมดว่าปอดและหัวใจอยู่ตำแหน่งไหน

รูปนี้เป็นรูปที่เด็กๆกำลังฟังวิทยากรอธิบายเรื่องอาจารย์ใหญ่ทั้ง 2 ท่าน


นอกจากวิทยากรแล้ว ครูเจนก็ยังคอยอธิบายความสำคัญและหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ โดยไม่ลืมที่จะเชื่อมโยงเข้ามาถึงตัวเด็ก และสอดแทรกวิธีการดูแลร่างกายของเรา เช่น กระดูกสันหลังเป็นที่รวบรวมเส้นประสาทเพื่อส่งสัญญาณไปให้สมอง ถ้าเด็กๆไปทุบหลังเพื่อนแรงๆแล้วกระดูกสันหลังหัก หรือกระโดดสระว่ายน้ำเอาหัวพุ่งลงแล้วคอหัก(เด็กๆเพิ่งไปเรียนว่ายน้ำที่สระมหิดลเมื่อวันจันทร์) อวัยวะที่ต่ำลงไปจากนั้นก็จะใช้งานไม่ได้ เด็กๆก็ต้องนั่งรถเข็น


พอดูหัวกระโหลก..เด็กๆตอบได้ว่ากะโหลกมีหน้าที่ปกป้องสมอง และเด็กๆยังสังเกตว่าถึงแม้อายุมากแค่ไหนสมองก็จะไม่แข็งจึงต้องมีกะโหลกแข็งๆหุ้ม ครูเจนตั้งคำถามทันทีว่า ถ้าเราเอาของแข็งไปทุบหัวเพื่อนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?   


หรืออย่างตอนดู "ไต" ในรูปแบบตัดขวางซึ่งมีก้อนนิ่วฝังอยู่ที่กรวยไต ครูเจนก็สอนเด็กๆว่าถ้ากลั้นปัสสาวะก็อาจจะเกิดก้อนนิ่วได้ และหากว่าเรากินเลย์มากๆไตก็จะต้องทำงานหนักเพื่อเอาของเสียออกจากร่างกาย


เด็กๆตื่นเต้นกันมาก อย่างน้องทอมก็เดินมาชวนแม่อ้อไปดูเด็กที่มีจมูกขึ้นที่หน้าผาก 


ธีธัชก็ชวนไปดูเด็กแฝดที่มีก้นติดกัน มีท้องติดกัน ก่อนหน้านี้ธีธัชเคยถามว่า สะดือมีไว้ทำอะไร ที่นี่ธีธัชเลยได้คำตอบจาการเห็นสายสะดือและรกว่ามีหน้าที่นำอาหารมาให้หนูตอนหนูอยู่ในท้องแม


เป็นโชคดีที่วันนี้ไม่ค่อยมีคนเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ในช่วงสุดท้ายครูเจนจึงสรุปการเรียนรู้ด้วยการให้เด็กๆหาอวัยวะที่ครูเจนบอก ไล่กันตั้งแต่ ตับอ่อน ไต หัวใจ ปอด เด็กๆก็จะรีบเดินไปหาตู้ที่แสดงอวัยวะชิ้นนั้น และบอกถึงความสำคัญของอวัยวะนั้น 


แม่ภูมิใจมากที่ธีธัชหา "ไต" เจอ และสามารถตอบได้ว่าเส้นเลือดแดงมีออกซิเจนเยอะและี่ปอดจะช่วยเติมออกซิเจนให้เลือด


ตอนสุดท้ายคุณครูเจนยังพาไปดูตู้ที่แสดงอวัยวะภายใน แล้วชี้ให้เด็กๆตอบว่าส่วนไหนคืออะไร เด็กๆตอบกันอย่างฉะฉาน ถูกบ้างผิดบ้างแต่ก็แย่งกันตอบใหญ่เลย


เราใช้เวลากัน 2 ชั่วโมง พอเที่ยงก็กลับไปทานข้าวที่โรงเรียน ตอนบ่ายเด็กๆสรุปผลการเรียนรู้ ซึ่งจะถูกแสดงในนิทรรศการแสดงร่องรอยการเรียนรู้ของเด็กๆตอนกลางเทอม ส่วนบันทึกที่เด็กๆวาดกันแม่อ้อไปขอถ่ายรูปมาได้บางส่วนค่ะ

ของพี่แสงจ้า ป. 2


พี่แพม..สมอง ก้านสมอง ไขสันหลัง ไต กระเพาะปัสสาวะ


ภาพจากวิน..สมองและลำไส้เล็ก


ภาพของธีธัช..ไตและปอด (แม่กลับมาถ่ายรูปที่บ้าน)


แต่งานยังไม่จบเท่านี้ค่ะ การบ้านประจำอาทิตย์นี้ก็เป็นการย้ำสิ่งที่ได้เรียนรู้ ให้เด็กๆตัดแปะคำให้สัมพันธ์กับอวัยวะต่างๆ



มีมาหลายหน้าให้ทำค่ะ ทำเสร็จแล้วเป็นอย่างนี้ค่ะ


อยากตบท้ายในสิ่งที่แม่สังเกตได้อย่างหนึ่งในวันนี้ คือ สิ่งที่เด็กๆสนใจมากจะเป็น "ที่มา" ของเด็กที่แช่อยู่ในโหลและอาจารย์ใหญ่ คำถามจะมาในแนว เค้าเป็นใคร ชื่ออะไร อายุเท่าไหร่ ทำไมถึงตาย คำถามสุดยอดที่เรียกน้ำตาแม่ได้ คือ  "เด็กมาอยู่ที่นี่แล้วแม่ของเด็กร้องไห้มั้ย" โอ..น้ำตาคลอขึ้นมาทันที 

ยังมีรูปอีกเยอะให้ดูค่ะ ไปดูได้ที่ http://mamaaor.multiply.com/photos/album/68/68

 

kulaem wrote on Jun 4, '10, ที่เคยแก้ไข on Jun 10, '10
เยี่ยมมากครับ...

เด็กๆได้...พ่อแม่ได้...คุณครูได้...ผู้เข้ามาอ่านที่นี่ก็ได้

การเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้ผลสูงสุด...ไม่มีวันลืม

mamaaor wrote on Jun 7, '10
ขอบคุณค่ะครูแหลม เชื่อเหลือเกินว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียนจะกระตุ้นให้เด็กอยากรู้มากขึ้น การเรียนรู้จะได้ไม่จบลงในแค่ชั่วโมงสอนในห้องสี่เหลี่ยม
roboton wrote on Jun 17, '10
พี่อ้อ เพื่อนที่ปฐมธรรม คือชื่อรร. ใหม่ธีธัชหรือค่ะ ที่บ้านพลอยภูมิรึเปล่าค่ะ/ มีอีกที่ ที่น่าสนใจ ตึกธรรมชาติวิทยาที่ตึกลูกเต๋า วิทยาศาสตร์ ตั้นพาไปตอนปิดเทอม อิงออมสนุกมาก ได้เล่นกับงูด้วย (ไม่มีพิษ อิงชอบงูกล้าที่จะจับ แต่ออมนี่ซิ วิ่งมาดูแลวิ่งไป โลด.. 555
mamaaor wrote on Jun 17, '10
ปฐมธรรม คือ ช่วงชั้นประถมของที่พลอยภูมิค่ะ

ขอบคุณจ้าตั้น .. พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คลองห้า ปทุมธานี เดี๋ยวจดไว้ก่อนนะ เดี๋ยวถึงการเรียนรู้ธรรมชาติในเทอมสองจะได้พาไป
roboton wrote on Jun 23, '10
อีกนิ้ดนึง ตึกธรรมชาติวิทยา ที่ อพวช. อยู่ห่างจากตึกลูกเต๋าค่ะ คนละฝั่ง ลานจอดรถอยู่ระหว่างกลาง เป็นตึก1 ชั้น ข้างในเย็นดีค่ะ
เพิ่มความเห็น