เข้าร่วม MultiplyOpen a Free Shopลงชื่อเข้าใช้งานวิธีใช้English
MultiplyLogo
SEARCH
รายการบล็อกFeb 13, '12 12:16 AM
สำหรับ ทุกคน
ดูนกป่าชายเลน สมุทรสาคร (17/1/2555)

ครั้งนี้เราไปกับ อ.วัชระ อยู่สวัสดิ์ วิทยากรประจำของเราค่ะ จุดแรกที่เราแวะคือ ศูนย์ข้อมูลนกชายเลน ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม


ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขามนี้ตั้งอยู่ติดนาเกลือกันเลยค่ะ ทำให้เราเห็นนกได้ง่ายๆ ไม่มีอะไรบัง และนกก็มีมากมายหลายชนิด


เมื่อ อ.วัชระหานกพบ เด็กๆก็จะเข้าแถวมาดูอย่างนี้ค่ะ 


จากนั้นก็ไปหาข้อมูลในหนังสือคู่มือนกค่ะ



เราได้เจอนกหลายชนิดเลยค่ะ เช่น นกหัวโตทรายเล็ก นกยางโทนใหญ(ขนาดใหญ่ 90 ซม. ปากสีเหลือง และคอเป็นรูปตัว S)  นกยางโทนน้อย(ปากสีเหลือง แต่ตัวเล็กลงมาหน่อยประมาณ 70 ซม. ปลายปากสีดำ) นกยางเปีย(ปากสีดำ ขนาด 61 ซม.)  นกตีนเทียน(ส่วนขาเป็นสีแดงๆเหมือนเทียนไหว้เจ้า)  นกปรอดสวน นกเอี้ยงหงอน


อ.วัชระยังเล่าถึงนกชายเลนว่า ส่วนใหญ่แล้วนกชายเลนไม่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่อยู่ในตอนเหนือขอทวีปเช่น รัสเซีย และจีน ซึ่งในช่วงฤดูหนาวนกเหล่านี้จะอพยพลงใต้ไปที่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือออสเตรเลีย นกอพยพเหล่านี้จะแวะพักเติมพลังที่ประเทศไทย เพราะประเทศไทยเป็นที่ราบซึ่งอุดมสมบูรณ์ทำให้เหมาะกับเป็นที่พัก


อาจารย์ยังได้เล่าถึงความสำคัญของป่าชายเลนว่า เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ มีอาหารสำหรับกุ้งหอยปูปลาอย่างอุดมสมบูรณ์ ป้องกันการกัดเซาะดินบริเวณชายฝั่ง เป็นแหล่งดักของเสียไม่ให้ไหลลงทะเลโดยรากของต้นไม้จะเป็นตะแกรงธรรมชาติให้ 


ถ้าใครชอบทานหอยหลอด โปรดทราบไว้นะคะว่ามันเป็นหอยที่มีอยู่ในประเทศไทยที่เดียวเท่านั้น หาที่ไหนไม่ได้แล้วในโลกนี้ ปกติชาวประมงจะจับหอยหลอดโดยใช้ไม้จุ่มปูนขาวแล้วแหย่ลงไปในรู แต่บางทีก็ใช้วิธีที่ผิดด้วยการราดปูนขาวลงไปบนพื้นเลยซึ่งทำให้จับหอยได้ทีละเยอะๆ แต่ก็จะทำให้ตัวอ่อนของหอยตายไปด้วย หวังว่าลูกหลานเราจะยังได้เห็นหอยหลอดในอนาคตอยู่นะคะ


อาจารย์ยังเล่าอีกว่า ก่อนหน้านี้พรรคการเมืองพรรคหนึ่งมีความคิดที่จะถมทะเลตั้งแต่ปากน้ำไปถึงสมุทรสาครเพื่อสร้างเป็นเมืองใหม่ อาจารย์ดีใจที่โครงการนี้ล้มเลิกไป แม่อ้อล่ะคาใจนักว่า พรรคไหนที่มีความคิดตื้นเขิน มองแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นได้ขนาดนี้ ไปค้นหาดูแล้วถึงรู้ว่าเป็นพรรคเผาบ้านเผาเมืองเรานี่เอง...เฮ้อ มิน่าเล่าถึงคิดได้เท่านี้


ก่อนที่เราจะเดินทางไปดูนกในจุดต่อไป เราได้เข้าไปดูกองเกลือสินเทาที่ชาวบ้านเก็บด้วยค่ะ


อ.วัชระให้เด็กๆลองหยิบเกลือสินเทาขึ้นมากินดู แล้วให้ลองไปเปรียบเทียบกับเกลือที่เราใช้ที่บ้านซึ่งเป็นเกลือโพแทสขุดได้ที่ภาคอีสาน อาจารย์บอกว่าเกลือสินเทาจะเค็มแบบอร่อย แต่เกลือโพแทสจะออกรสขม อันนี้ต้องลองไปชิมดูกันเองนะคะ


เด็กๆตื่นตาตื่นใจกับกองเกลือกันมากเลยค่ะ หยิบมาชิมกันใหญ่ แล้วก็บอกว่าเค็มปิ๊ดปี๋


จากนั้นเราเดินทางไปกันที่ ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2(จ.สมุทรสาคร) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 

เสียดายค่ะ แม่อ้ออยู่บนรถคนละคันกับเด็กๆซึ่งคันนั้นมีอ.วัชระเล่าเรื่องราวให้เด็กๆฟังตลอดทาง แม่อ้อเห็นแต่ตอนที่อ.วัชระจอดรถลงมาเก็บใบของต้นแสมข้างทางแล้วยกขึ้นเคี้ยว แม่อ้อก็ลงไปเด็ดมาเคี้ยวบ้าง ผลก็คือ เค็มค่ะ!! เพราะต้นไม้เหล่านี้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของป่าชายเลน ผิวใบจะหนา เป็นแผ่นมัน มีต่อมขับเกลืออยู่ใต้ใบ จะได้ควบคุมระดับความเข้มข้นของเกลือได้ไงคะ


พอเราไปถึง จ่าสิบเอกสำเริง บารมี หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการอนุรักษ์ฯ ก็ออกมาทักทายเด็กๆค่ะ พี่เล่าถึงหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ว่าต้องดูแลป่าชายเลนตั้งแต่ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงครามและเพชรบุรี ต้องเก็บขยะทะเลซึ่งเพิ่มขึ้นเยอะมากหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม ต้องป้องกันการบุกรุก คอยไล่เรือประมงที่เข้ามาใกล้ฝั่งเกิน 3 กม. เพราะต้องการสงวนให้เป็นพื้นที่ทำกินเฉพาะชาวประมงเล็กๆเท่านั้น 


เด็กๆสนใจภาพการช่วยปลาฉลามวาฬที่ติดมาในโป๊ะเป็นพิเศษ โดยเมื่อเมื่อปี 2554 ที่ จ.สมุทรปราการ มีปลาฉลามวาฬว่ายเข้ามาติดในโป๊ะที่ไม่ใช้งานแล้วของชาวประมง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องไปช่วยกันตัดไม้โป๊ะให้เกิดช่องเพื่อให้ปลาฉลาวาฬว่ายออกไปได้


แล้วพี่เจ้าหน้าที่ก็พาเราเดินไปจุดชมนก ในรูปก็ตรงหลังคาสีเขียวด้านซ้ายบนของรูปค่ะ


ระหว่างเดินไปเราก็ได้เห็นปลาตีนตัวโตๆเกาะอยู่บนขอนไม้


ที่เด็ดที่สุดก็คือ ปลาตีนแล่นเรือโฟม ก็เจ้าตัวนี้ไงคะกระโดดขึ้นมาบนโฟมได้ไงก็ไม่รู้ค่ะ 


จุดชมนกเป็นเพิงสูง 3 ชั้นอย่างนี้ค่ะ ดูแล้วน่าหวาดเสียวเล็กน้อย แต่ก็ไม่มีใครตกลงมาค่ะ



สังเกตแนวไม้ไผ่ที่ปักไว้ไหมคะ ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ร่วมมือกันทำไว้เพื่อกันคลื่นเซาะชายฝั่งค่ะ  โดยก่อนหน้านี้ลองมาหลายวิธี มีการใช้ถุงทรายวางเพื่อกันคลื่น แต่ไม่นานถุงก็เสื่อมสภาพทำให้ทรายกระจายลงมาอยู่ในดินเลน ทำให้ดินเลนเปลี่ยนสภาพมีผลต่อสัตว์ป่าชายเลน แต่ด้วยวิธีการใช้ไม้ไผ่นี้ทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดค่ะ


อยู่บนจุดดูนกนั้น ทำให้เราเห็นนกเยอะมากค่ะ เช่น นกกินเปี้ยว ???


เด็กๆส่องนกกันเพลินเชียวค่ะ


ใครได้เห็นนกและรู้ชื่อนกแล้วก็มานั่งบันทึกค่ะ



จุดต่อมาที่เราไป คือ ศูนย์วิจัยป่าชายเลนสมุทรสาคร


ก่อนจะเดินเข้าไป อ.วัชระชี้ให้ดูรังมดบนต้นไม้ และเล่าเรื่องราวมดให้เด็กๆฟังก่อนค่ะ


ระหว่างทางเด็กๆก็เรียนรู้ชื่อต้นไม้ป่าชายเลนไปกับอาจารย์ ได้เห็นเมล็ดต้นแสม ซึ่งเป็นแท่งยาว เนื่องจากเมล็ดเริ่มงอกตั้งแต่อยู่บนต้นกันเลย และต้นอ่อนพวกนี้ลอยน้ำได้ด้วยเพื่อจะได้แพร่พันธุ์ได้ดีไงคะ



แล้วเราก็มาถึงศาลาริมป่าชายเลน มองไปทางไหนก็เห็นนกเพียบเลย


มองต่ำลงพื้นก็เจอกับเหล่าปลาตีน ซึ่งวาดลวดลายลงดินเลนไว้แปลกตา เอาไปเป็นงานศิลปะได้นะคะเนี่ย


ที่นี่เราก็ได้เห็นนกอีกมากมายหลายชนิดค่ะ อาจารย์และเด็กๆเพลิดเพลินดูนกกันใหญ่





แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ธีธัชโดนเพื่อนชนทำให้สมุดบันทึกลอยละลิ่วตกไปบนดินเลนข้างล่าง!! พี่ยุทธรีบวิ่งไปหาไม้ แม่มุกไปหาบุ้งกี๋มาได้ แผนของเราก็คือเขี่ยสมุดบันทึกใส่บุ้งกี๋แล้วยกบุ้งกี๋ขึ้นมา แต่ที่ไหนได้...บุ้งกี๋ลอยไปตกบนดินเลนอีกเช่นกัน แย่แล้ว! กลายเป็นว่าเราทำให้เกิดขยะในทะเล 2 ชิ้น!! 


แม่หุยรีบวิ่งไปหาไม้มาอีกอัน และโชคดีที่ครูเปรมมือยาวมาก ก็เลยเขี่ยบุ้งกี๋กลับเข้ามาได้ และยังเก็บสมุดบันทึกขึ้นมาได้ด้วย เย้ เย้ ฮีโร่ของเรา เย้! แต่น่าเสียดายที่กระดาษส่วนที่ธีธัชจดไว้นั้นติดแน่นอยู่กับดินไม่สามารถเขี่ยขึ้นมาได้ แต่ทุกคนก็เลยได้ประสบการณ์ตื่นเต้นก่อนกลับบ้านค่ะ


ไม่ได้เอารูปทั้งหมดมาลงนะคะ เพราะเท่านี้ก็โหลดกันนานแล้ว แต่สามารถดูรูปที่เหลือได้ที่ http://mamaaor.multiply.com/photos/album/105/105

เพิ่มความเห็น