10 มิถุนายน 2554
ทัศนศึกษาครั้งนี้เราไปเรียนรู้เรื่องร่างกายกันที่ โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ และในภาคบ่ายเรียนรู้ประวัติศาสตร์กันในวัดพระเชตุพนฯหรือวัดโพธิ์ เราจอดรถกันที่มิวเซียมสยามแล้วเดินเลาะกำแพงกันไปที่วัดโพธิ์ ซึ่งบริเวณที่เราเดินนั้นคือ ท่าเตียน เราก็เลยได้เล่าให้เด็กๆฟังถึงตำนานที่ยักษ์วัดโพธิ์ยืมเงินยักษ์วัดแจ้งแล้วไม่คืนเงิน ยักษ์วัดแจ้งเลยข้ามมาตีกันกับยักษ์วัดโพธิ์จนเกิดท่าเตียนขึ้น แล้วพระอิศวรก็เลยลงโทษให้ยักษ์ทั้งสองยืนเฝ้าประตูวัดเป็นการลงโทษ
พวกเราเข้าใจผิดว่า รร.แพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯนั้นอยู่ในวัดโพธิ์ เด็กๆก็เลยได้เดินเล่นกันรอบวัดโพธิ์กันหนึ่งรอบ ก่อนจะพบว่าที่ที่เราจะไปนั้นอยู่ด้านหลังนอกบริเวณวัดโพธิ์ค่ะ
แม่อ้อเลยได้ภาพประทับใจที่น้องทอมกับทิมช่วยพยุงเม็กก้าซึ่งกระดูกข้อเท้าแตก น่ารักมากค่ะ
พอไปถึงพี่ๆก็ต้อนรับเราด้วยน้ำสำรองเย็นชื่นใจและดีต่อสุขภาพ
จากนั้นเราได้ชมวีดีทัศน์เพ่ือทำความรู้จักรร.แพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ ที่มานั้นเกิดจากเมื่อปี 2505 ในหลวงเสด็จวัดโพธิ์ และทรงตรัสถามว่ามีโรงเรียนสอนการนวดหรือไม่ จากนั้นจึงมีการรวบรวมความรู้การนวดทำเป็นหลักสูตรขึ้นมา ปัจจุบันโรงเรียนมีอยู่ 4 สาขา คือที่วัดโพธิ์นี้ แจ้งวัฒนะ เชียงใหม่ และศาลายา
ช่วงต่อมาเป็นการสอนการนวดพร้อมกับแนะนำส่วนต่างๆของร่างกาย โดยมีคุณยายอารมณ์ซึ่งเป็นคุณยายของบุ้งกี๋กรุณามาเป็นแบบการนวดให้ค่ะ
พี่วิทยากรสอนตั้งแต่ การตรวจสอบผู้รับการนวดว่ามีโรคประจำตัวใดบ้าง ข้อยกเว้นในการนวดในจุดต่างๆเช่น ไม่นวดตรงเส้นเลือใหญ่บริเวณคอ ไม่นวดตรงหัวมุมไหล่ ใต้รักแร้
สอนถึงโครงสร้างของร่างกาย และท่านวดต่างๆ
สุดท้ายเด็กๆก็ได้ลงมือนวด รูปนี้น้องวินนวดครูคม
รูปนี้เด็กๆพยายามนวดหน้าให้เพื่อน แบบต่อกันเป็นทอด
พอได้เวลาเที่ยงเราก็ขอลากลับ และไม่ลืมที่จะขอบคุณวิทยากรใจดีของเราค่ะ
นั้นเราก็เดินกลับไปทานข้าว โดยเราตั้งวงทานข้าวในศาลาเล็กๆโล่งๆในมิวเซียมสยามกันเลยค่ะ วันนี้เรามีปลาหวานจากแม่มุกซึ่งเป็นคุณแม่ของน้องชุณฬี่ ผัดวุ้นเส้นจากคุณยายอารมณ์ และไข่เจียวกับจับฉ่ายจากครูสุ แม่อ้อเลยอิ่มหนำที่สุดในมื้อเที่ยงนี้
หลังจากทานข้าวกันเสร็จ เด็กๆได้วิ่งเล่นกันในศาลาอย่างสนุกสนาน ตอนแรกก็เล่นลิงย้ายหลัก วิ่งไปว่ิงมาแล้วก็เปลี่ยนมาเป็นน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งแม่อ้อและแม่มุกฟังกฏแล้วก็งงหนัก เด็กๆไม่งงเพราะไม่สน...วิ่งไล่และกรี๊ดกร๊าดกันอย่างเดียวเลยค่ะ
ต่อมาเราก็เดินกลับไปที่วัดโพธิ์กันอีกครั้ง ปกติใครไปวัดโพธิ์ก็จะได้ไกด์มาเป็นวิทยากร แต่กลุ่มเราเจ๋งมากเลยค่ะ มีพระเป็นวิทยากร! ใครเห็นก็ต้องเหลียวหลังด้วยความเอ็นดูกับกลุ่มเด็กๆและหลวงพ่อ หลวงพ่อของเรามีนามว่า พระมหาเอกชัย
หลวงพ่อเล่าว่าชื่อเต็มของวัดโพธิ์ คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อว่า วัดโพธาราม เป็นวัดโบราณตั้งแต่อยุธยา ต่อมาร.1 ทรงบูรณปฏิสังขร์ และตั้งให้เป็นอารามหลวงประจำ ร.1
วัดโพธิ์นี้ เปรียบเหมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงให้รวบรวมวิชาความรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และการแพทย์ จารึกลงบนศิลาจารึกหรือแผ่นศิลา
สำหรับฤาษีดัดตนนั้น รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้า ให้รวบรวมการแพทย์แผนโบราณและศิลปะวิทยาการครั้งอยุธยาไว้ ทรงพระราชดำรินำเอาท่าดัดตน ประยุกต์กับคติไทยที่ยกย่องฤาษีเป็นครู มาเป็นรูปฤษษีดัดตน แสดงท่าไว้ที่วัดเพื่อให้ราษฏรทั่วไปได้ศึกษาเล่าเรียน และรักษาโรค สมัยแรกนั้นปั้นด้วยดิน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการปฏิสังขรณ์ หล่อรูปฤาษีแสดงท่าดัดตน ด้วยสังกะสีผสมดีบุก
ต่อมาหลวงพ่อนำเราเข้าไปในพระอุโบสถ ซึ่งสร้างขึ้นสมัย ร.1 เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางสมาธิ นามว่า พระพุทธเทวปฏิมากร แปลว่า สวยงามดุจเทวดาสร้าง
ที่ฐานของพระพุทธเทวปฏิมากรนั้นบรรจุพระบรมอัฐิของ ร.1 ไว้ค่ะ ถัดลงมาเป็นที่พระดิษฐานพระอัครสาวกท้งสอง ซึ่งเด็กๆตอบได้ว่า คือ พระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร
แล้วหลวงพ่อก็บอกว่าที่นี่ีมี ม้าหมู่ ด้วยนะ มีใครหาเจอบ้าง เด็กๆก็เหลียวหาฝูงม้ากันใหญ่ สุดท้ายหลวงพ่อก็เฉลยว่า ม้าหมู่ ก็คือ โต๊ะหมู่บูชานั่นเอง ซึ่งเริ่มมีการจัดครั้งแรกก็ที่นี่ เมื่อตอนมีงานฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามสมัย ร.3
ในพระอุโบสถยังมีจิตรกรรมที่สวยงามมาก ซึ่งหนึ่งในเรื่องราวนั้นคือ นิทานตากะยายปลูกถั่วปลูกงา โดยหลวงพ่อได้กรุณาเล่านิทานเรื่องนี้ให้เด็กๆฟังจนจบ แล้วก็สอนเด็กๆให้รู้จักหน้าที่ และช่วยเหลือคนตกทุกข์
พอออกมาหน้าอุโบสถเราก็ได้เห็นตัว สาง ซึ่งการผสมระหว่างสิงห์และพญานาค ยืนอยู่หน้าประตูเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้ผ่านเข้าไป คำว่าผีสางนางไม้ คงมาจากสางตัวนี้นี่เอง
พอเราเดินผ่านตุีกตาจึนตัวโต หลวงพ่อก็ตั้งคำถามว่า รูไหมว่ามีมาแต่สมัยไหน พี่แพมตอบได้ทันทีว่าสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะมีการติดต่อการค้ากับต่างประเทศ หลวงพ่อเสริมอีกว่า เราค้าขายโดยขนสินค้าทางเรือ เมื่อขายสินค้าหมดจึงต้องมีกาขนตุ๊กตาจีน หรือเรียกว่าอับเฉา กลับมาเพื่อถ่วงให้เรือมีน้ำหนัก
ที่วัดโพธิ์นี้ยังมี พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ได้แก่
"พระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ" ประจำรัชกาลที่ 1 องค์พระเจดีย์ประด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว
"พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรรกนิทาน" ประจำรัชกาลที่ 2 องค์พระเจดีย์ประด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว
"พระมหาเจดีย์มุนีบัติบริขาน" ประจำรัชกาลที่ 3 องค์พระเจดีย์ประด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง
"พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย" ประจำรัชกาลที่ 4 องค์พระเจดีย์ประด้วยกระเบื้องเคลือบสีน้ำเงินเข้ม
หลังจากนั้น รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำรัสว่า "ต่อไปในรัชกาลหลังอย่าให้เอาเป็นแบบอย่างที่จำเป็นจะต้องสร้างพระเจดีย์ประจำรัชกาลในวัดพระเชตุพนต่อไปเลย เพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 รัชกาลแต่แรกนั้นได้เคยทรงเห็นกันทั้ง 4 พระองค์ ผิดกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่น" ดังนั้น การสร้างพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลในวัดโพธิ์จึงได้ยุติลงตั้งแต่นั้นมา
ต่อมาเราเข้าไปในวิหารพระพุทธไสยาส ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาส ซึ่งเป็นพระนอนซึ่งใหญ่มาก(ยาว 46 เมตร) ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 แบบก่ออิฐถือปูนแล้วลงรักปิดทอง
การสร้างนั้น เริ่มสร้างพระพุทธไสยาสขึ้นก่อน แล้วจึงสร้างพระวิหารภายหลัง เกิดปัญหาพระเกศเกินเพดาน จึงต้องมีการตัดพระเกศออก 1 ศอก (เด็กๆโชคดีที่มากับหลวงพ่อจึงได้เข้าชมแบบใกล้ชิดอยู่ด้านในของรั้วไม้ ไม่ต้องมองผ่านเสาต้นใหญ่แบบผู้เข้าชมคนอื่น)
เมื่อเรามองไปเห็นเมฆฝนทะมึนที่กำลังเคลื่อนที่มาหาเรา พี่ยุทธกับแม่มุกก็รีบวิ่งไปเอารถที่จอดไว้สยามมิวเซียมมารับเด็กๆ แล้วพวกเราก็กราบลาหลวงพ่อที่กรุณาให้ความรู้แก่เด็กๆกัน
ข้อมูล:
http://www.watpho.com
http://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร