พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา (22/6/55)
ไปดูไดโนเสาร์กันค่ะ ไปเรียนรู้เรื่องการกำเนิดโลก หิน แร่ธาตุ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และดูไดโนเสาร์คำราม ไปกันที่พิพิธภัฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี (National Geological Museum) โดย กรมทรัพยากรธรณี
พิพิธภัณฑ์นี้สร้างขึ้นเพ่ือถวายเป็นราชสัการะแด่ในหลวง ในมหามงคลทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี (ปี 2539) ตัวพิพิธภัณฑ์เพิ่งเปิดให้เข้าชมเมื่อปีที่แล้วนี้เอง และจะเปิดอย่างเป็นทางการในปลายปี 2555 นี้ค่ะ
เราได้พี่วิทยากรใจดี คือ พี่รัตน์ พี่รัตน์เริ่มต้นด้วยการพาเราไปดูวีดีทัศน์สั้นๆเรื่อง กำเนิดโลก เมื่อ 4,600 ล้านปีที่แล้ว
พอเดินออกมา ก็เจอกับโมเดลอธิบายถึงชั้นของโลก ซึ่งมีเปลือกโลก(Crust)อยู่นอกสุด มีความหนาระหว่าง 0-60 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่มากกว่า 70% ปกคลุมด้วยน้ำ
ชั้นถัดมาเป็นเนื้อโลก(Mantle) มีความหนาประมาณ 2,900 กิโลเมตร ต่อมาคือ ชั้นในสุดคือ แก่นโลก (Core) เป็นส่วนชั้นในสุดของโลกที่มีความหนาแน่นมาก มีรัศมียาวประมาณ 3,486 กิโลเมตร ประกอบด้วยโลหะผสมระหว่างเหล็กและนิกเกิล และส่วนชั้นในสุดของแก่นโลกมีความร้อนสูงถึง 5,500 องศาเซลเซียส
เนื่องจากเปลือกโลกที่เราอยู่กัน เหมือนแผ่นหินที่ลอยอยู่บนของเหลว มันจึงเคลื่อนที่ตลอดเวลาเพียงแต่น้อยมาก ประมาณ 5 เซ็นติเมตรต่อปี ภาพนี้แสดงแผ่นเปลือกโลกในยุคต่างๆค่ะ เมื่อ 250 ล้านปีที่แล้วทวีปต่างๆในปัจจุบันเคยเป็นแผ่นมหาทวีปเดียวกันอยู่เลยค่ะ
มีสื่อแสดงการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกทั้ง 3 แบบ ได้แก่ แยกออกจากกัน ชนกัน และพาดผ่านกัน เด็กๆสามารถหมุนให้แผ่นเปลือกโลกในโมเดลขยับเข้าหากันได้ค่ะ
นิทรรศการส่วนต่อไปแสดงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต นี่เป็นวงล้อแสดงถึงวิวัฒนาการตั้งแต่กำเนิดโลกเมื่อ 4,600 ล้านปีก่อน ไล่มาจนถึงปัจจุบัน
ต้องเห็นสิ่งมีชีวิตก่อนที่จะพัฒนามาเป็นมนุษย์ ซึ่งมีตั้งแต่หน้าเหมือนปลา เหมือนกิ้งก่า เหมือนสัตว์ประหลาด
ส่วนต่อมาเป็นการจัดแสดงธรณีวิทยาในประเทศไทย นี่เป็นแผนที่ทางภูมิประเทศของไทย
เด็กๆกำลังดูโมเดลจำลองซากกระดูกของ Velociraptor vs Protoceratops ที่ต่อสู้กันจนตายทั้งคู่
ต่อมาเราเดินผ่านการจำลองลักษณะสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศในยุคต่างๆ
มีโครงกระดูกไดโนเสาร์ตั้งอยู่ให้ตื่นเต้นขึ้นด้วยค่ะ โครงกระดูกเหล่านี้เป็นโครงจำลองเท่านั้นค่ะ พี่วิทยากรบอกว่ามันมีมูลค่าสูงเกินที่จะเอามาจัดแสดงค่ะ
แล้วเราก็เดินมาถึงส่วนที่น่าตื่นเต้นที่สุด คือ สวนไดโนเสาร์ เป็นการลำลองสถาพแวดล้อมในยุคมีโซโซอิก ที่ไดโนเสาร์ครองโลก มีเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหวที่พอเด็กๆเดินเข้าไปใกล้แล้วจะทำให้ไดโนเสาร์เคลื่อนไหวและคำรามเสียงดังด้วยค่ะ ตัวนี้คือ สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ พบฟอสซิลที่ภูเวียง จ.ขอนแก่น
นี่คือ สยามโมซอรัส สุธีธรนี พบฟอสซิลฟันครั้งแรกที่ภูเวียง เป็นไดโนเสาร์ที่มีปากยาวแคบคล้ายจรเข้ กินปลาเป็นอาหาร
ไดโนเสาร์ตัวเบิ้มที่สุดตรงกลาง คอยาวๆ ขวัญใจเด็กๆ คือ ภูเวียงโคซอรัส สิรินธรเน
เป็นซอโรพอดชนิดแรกของไทย และตั้งชื่อเพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ภูเวียงโคซอรัส สิรินธรเน ยาว 15-20 เมตร เดิน 4 เท้า คอและหางยาว กินพืชเป็นอาหาร มักอยู่รวมกันเป็นฝูง
นอกจากนี้ยังมีต้นไม้โบราณ เช่น แป๊ะก๊วย (Ginkgo biloba) กำเนิดมาเมื่อ 290 ล้านปีที่แล้ว
พี่วิทยากรเล่าว่า ไดโนเสาร์พวกนี้ราคาแพงมากเลยนะคะ เจ้าตัวเบิ้มเนี่ย 20 ล้านค่ะ ส่วนเจ้าตัวย่อมลงมานั้น 15 ล้านค่ะ!!
ที่ชั้น 3 เป็นนิทรรศการเรื่อง แร่ มีตั้งแต่การทำเหมืองแร่ ซึ่งจำลองเหมืองแร่มาให้เด็กๆเดินผ่าน
การจำแนกแร่
ใครรู้บ้างคะว่าแป้งฝุ่นที่เราใช้นั้นผลิตมาจากแร่ ทัลก์(Talc) ส่วนยาสีฟันผลิตมาจากผงแร่แคลไซต์และฟลูออไรด์ กระจกก็ผลิตมาจากทรายแก้วเป็นหลัก
นิทรรศการส่วนต่อมาเป็น ธรณีพิบัติภัย มีทั้งการจำลองแผ่นดินไหว โดยเด็กๆยืนอยู่บนแผ่นกลมมีราวเหล็กให้จับ มีภาพวีดีโอแผ่นดินไหวสเกลต่างๆให้ดูไปพร้อมกับที่แผ่นวงกลมสั่นไหว
มีการจำลองทอร์นาโดในโหลแก้วยักษ์ตรงกลาง
ต่อมาเราไปชั้นที่ 4 นิทรรศการด้านเชื่อเพลิงธรรมชาติและพลังงานทางเลือก ในภาพนี่คือโมเดลการสำรวจ การขุดเจาะปิโตเลียม
หลังจากเดินชมครบทั้ง 4 ชั้นแล้ว ก็ถึงเวลาเติมพลังด้วยข้าวเที่ยง ทางพิพิธภัณฑ์มีส่วนโรงอาหารติดแอร์เย็นเฉียบให้เราได้นั่งทานค่ะ ตอนนี้ยังไม่มีร้านอาหารขาย คงต้องรอหลังจากเปิดเป็นทางการตอนปลายปี
กินกันเอร็ดอร่อยเช่นเดิม
หลังจากอิ่มท้องแล้ว เด็กๆก็แยกย้ายเก็บข้อมูล โดยคุณครูได้ตั้งคำถามไว้ตั้งแต่ก่อนมาแล้วค่ะ พี่โตก็โจทย์เยอะหน่อย วาดรูปมากหน่อย
ดีนะคะที่เรามีคุณครูไปกันเยอะ ก็เลยมีคุณครูเดินตามดูแลเด็กๆได้ทั่วถึง เพราะพิพิธภัณฑ์นี้มีตั้ง 4 ชั้น
เดินกันไปทั่วพิพิธภัณฑ์ แต่สุดท้ายก็ต้องมาดูไดโนเสาร์คำรามกันอีกรอบค่ะ
หลังจากเก็บข้อมูลกันในพิพิธภัณฑ์เต็มที่ ก่อนกลับเด็กๆแวะเก็บข้อมูลกันที่ สวนหิน จัดแสดงหินชนิดต่างๆ ในยุคต่างๆ
แดดร้อนแต่ก็สู้ไม่ถอย
พิพิธภัณฑ์ที่นี่มีข้อมูลแน่เอี้ยดเชียวค่ะ จัดข้อมูลได้น่าอ่าน ทำแบบจำลองต่างๆ ทั้งเหมืองแร่และแผ่นดินไหวก็ทำได้น่าสนใจ แล้วเจ้าไดโนเสาร์ตัวโตก็สุดยอด น่าพาเด็กๆมามากๆค่ะ
ข้อมูลเพิ่มเติม :
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ เปิดให้ให้บริการตั้งแต่เวลา 09:30 - 16:30 เฉพาะวัน ศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์
ค่าผ่านประตูมีรายละเอียดดังนี้คือ
คนไทย
ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท
ต่างชาติ
ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท
โทรศัพท์สอบถามได้ครับที่หมายเลขดังนี้
เวลาราชการ 02 902 7661
วันหยุดราชการ 02 902 7681