12 พฤศจิกายน 2553
จะไปเรียนรู้เรื่องดาวและท้องฟ้าได้ที่ไหน? ก็ต้องที่ท้องฟ้าจำลองน่ะสิคะ และยังจะได้ไปเรียนรู้เรื่องแมลงกันที่ โลกของแมลงในตึกข้างๆด้วย ต้องไป 2 ที่ในวันเดียว เด็กเลยต้องทำเวลากันหน่อย
เราไปถึงกันตอน 10 โมง แต่รอบแรกของการเข้าดูท้องฟ้าจำลอง คือ 11 โมง พวกเราเลยไปเดินดูนิทรรศการวิทยาศาสตร์แสนสนุกกันก่อน จุดแรกที่เด็กๆสนใจ คือ เตียงตะปู
เด็กๆตื่นเต้นคุยกันขโมงโฉงเฉงใหญ่ว่า เหมือนที่พ่อโก้สอนเลย อีกคนก็บอกว่า "ใช่ ใช่ ใช่" และมีเสียงดังขึ้นว่า "ตะปูมันแบ่งกันรับน้ำหนักเนอะ" ชื่นใจมั้ยคะเนี่ย...เด็กๆสามารถเชื่อมโยงในสิ่งที่พ่อโก้สอนไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้วเรื่องแรงกดและความดัน (อ่านที่บล็อกพ่อโก้ได้ที่ http://kostuff.blogspot.com/2010/11/blog-post.html) พอแม่อ้อกลับมาเล่าให้พ่อโก้ฟัง พ่อโก้ก็หน้าบานด้วยความภูมิใจในลูกศิษย์ตัวน้อย
เนี่ยแหละค่ะ..สิ่งที่พ่อโก้พยายามทำ การสอนวิทยาศาสตร์โดยเริ่มจากสิ่งตัวอย่างรอบตัว ทำให้เด็กๆตื่นเต้น สนุกและประหลาดใจ แล้วจะนำไปสู่ความใคร่รู้ เมื่อเค้าโตพอค่อยเริ่มสอนทฤษฎีเพื่อเป็น Tool ให้เข้าใจให้มากขึ้น ถ้าเรียนวิทยาศาสตร์ด้วยการเริ่มต้นที่ทฤษฎีและสูตร แล้วนั่งแก้โจทย์ เด็กๆเลิกเรียนวิทยาศาสตร์กันหมดค่ะ
แล้วแสงจ้าก็ขอขึ้นไปนอนคนแรก
ของสนุกอันถัดมาเป็นอันนี้ค่ะ ลูกเหล็กจะถูกปล่อยลงมาจากด้านบนแล้วมันก็จะกลิ้งวนไปตามราง จนตกลงมาข้างล่างตามแรงโน้มถ่วงโลก
เด็กๆแหงนหน้าดูกันอย่างกับถูกสะกดจิต
แล้วอันต่อมาคือ Gimbal อันนี้ค่ะ ไว้ทดสอบสภาพไร้ทิศทางคล้ายอยู่ในอวกาศ
ส่วนอันนี้ทดลอง Vortex Ring ซึ่งเด็กก็จำได้ว่า พ่อโก้เคยสอนไปแล้วในเรื่องปืนใหญ่ลมแต่ที่นี่...ปืนมันใหญ่จริงๆค่ะ เด็กๆจะตีแผ่นหนังที่อยู่ด้านหลัง แล้วก็จะมีลมม้วนตัวออกไปพุ่งชนกับกระดานที่มีสายรุ้งติดเป็นรูปดาว เราจะเห็นสายรุ้งปลิวไหวๆเวลาโดนลมค่ะ แต่ถ้าเป็นเวอร์ชั่นพ่อโก้เนี่ย...ใช้ถังขยะและถุงดำดับเทียนค่ะ (ใครอยากทำเองที่บ้านไปอ่านบล็อกพ่อโก้ที่ http://kostuff.blogspot.com/2010/06/123-23_29.html)
พอใกล้ 11 โมงเราก็เข้าไปที่ส่วนท้องฟ้าจำลอง
เด็กๆได้ดูดาวเต็มท้องฟ้ากันตอนกลางวัน ได้เรียนรู้ชื่อกลุ่มดาว ต้องขอบคุณอาจารย์วัชระที่เคยสอนเรื่องดวงดาวทำให้เด็กๆก็เข้าใจเวลาวิทยากรบรรยาย เป็นผลให้เด็กๆตั้งใจฟังได้ 1 ชั่วโมงเต็ม ถึงแม้ในนั้นทั้งหนาวและมืดก็ตาม
เนี่ยล่ะค่ะเป็นผลดีของการเรียนซ้ำ ถึงแม้เหมือนว่าจะเป็นความรู้เดิมๆที่เคยได้ยินกันมาแล้ว แต่เวลาที่เด็กๆรับรู้ผ่านสื่อการสอนที่ต่างไปในแต่ละครั้ง เช่น อ.วัชระสอนการดูดาวจริงๆบนท้องฟ้าบนเขาใหญ่ และที่เพชรบุรี การสอนเรื่องกลุ่มดาวผ่านคอมพิวเตอร์บนอุทยานฯน้ำหนาวเพราะฟ้าไม่เปิด และการดูดาวที่ท้องฟ้าจำลอง เด็กๆก็จะเก็บเกี่ยวความรู้ในมุมที่ต่างกันไป ในการสอนครั้งแรกจะดูเหมือนว่าเด็กๆไม่ได้อะไร แต่เวลาเด็กๆได้เจอในครั้งต่อไปก็จะสามารถเชื่อมโยงและเข้าใจได้มากขึ้น
อาหารเที่ยงวันนี้ เราตั้งวงกันที่ใต้ถุนตึกอาคาร 4 เด็กๆแลกเปลี่ยนอาหารกันสนุกเช่นเคย แสงจ้ากินไก่ทอดของธีธัช ธีธัชกินไข่เจียวของทอม ทอมกินหมูทอดของบุ๋น บุ๋นกินมาม่าของบุ้งกี๋ แม่อ้อกินน้ำพริกหนุ่มของเม็กก้า และเด็กทุกคนกินแคบหมูของเม็กก้าและกัน โอว...สนุกและอร่อยค่ะ
พอทานข้าวเสร็จเราก็ตรงไปที่ โลกของแมลง คุณครูให้โจทย์ว่า ให้เด็กๆหาข้อมูลของแมลงที่ชอบ 3 ตัว เพื่อกลับไปทำงานกลุ่มที่โรงเรียน โดยให้เวลา 1 ชั่วโมง ถึงแม้ที่นี่ไม่ค่อยมีแมลงจริงให้ดูมากนัก แต่ข้อมูลต้องยกนิ้วให้ เพราะจัดเป็นหมวดหมู่ ใช้ภาษาที่เด็กๆเข้าใจง่าย
พี่แพมกำลังจดเรื่อง อวัยวะรับความรู้สึกของแมลง ที่มีทั้ง หู จมูก สัมผัส ลิ้น
ความรู้ใหม่ของแม่อ้อ คือ ยุงมีอวัยวะรับเสียงอยู่ที่หนวด ผีเสื้อกลางคืนได้กลิ่นของตัวเมียที่อยู่ไกลนับพันเมตรได้ด้วยหนวด จิ้งหรีดมีหูอยู่ที่ขาคู่หน้า และมีวิธีที่แมลง 6 ขาเดินโดยการก้าวขาทีละ 3 ขา
ส่วนเด็กๆก็แยกย้ายกันบันทึก มุมใครมุมมันค่ะ
ลีลาก็ต่างกันไป
สาวน้อยมดตะนอย...ท่าน่ารักเสมอค่ะ
โชคดีที่มีแต่พวกเรา เด็กๆเลยมีสมาธิจดกันใหญ่เลย
ดูรูปแล้วเหมือนเด็กๆจดกันตลอดเวลาเลยใช่มั้ยคะ แต่จริงๆแล้วเด็กๆวิ่งไปวิ่งมาตลอดเชียวค่ะ เดี๋ยวก็เรียกเพื่อนไปดูโน่น เดี๋ยวก็ขี้เกียจจดบ้าง เดินเล่นบ้าง ดังนั้นคุณครูก็จะคอยเดินดูรอบๆ คอยชมคนที่ตั้งใจจด ใครไม่จดก็ชวนมาดูสิ่งที่น่าสนใจ ใครอ่านยังไม่คล่องก็ไปยืนอธิบายให้ฟัง เรียนกลุ่มเล็กก็ดีอย่างนี้ล่ะค่ะ มีครู 3 ท่านและแม่อ้ออีกหนึ่ง ประกบนักเรียน 13 คน ดูแลกันทั่วถึงดีค่ะ
รูปนี้ครูสุกำลังอธิบายเรื่องรังปลวก และเชื่อมโยงไปถึงการสร้างบ้าน
ครูเจนอธิบายเรื่อง ผึ้ง
วันนี้พอมีเวลา แม่อ้อเลยได้โอกาสขอเด็กๆถ่ายรูปผลงานการบันทึกค่ะ นี่น้องอิงฟ้า ป.1
ไม่น่าเชื่อนะคะ..ว่าเด็กๆ ป.1 ที่เพิ่งเขียนกันได้เมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว สามารถเขียนกันได้เยอะขนาดนี้ อันนี้ผลงานน้องวิน ป.1 ค่ะ
ธีธัช ป.1
กัน ป.1
ทอม ป.1 จดได้เยอะมากๆ
พี่บุ๋น ป.2 มีรูปประกอบด้วย บุ๋นภูมิใจในการบันทึกมากค่ะ ขอให้แม่อ้อถ่ายรูปทั้ง 6 หน้าเลย แต่แม่อ้อขอเอามาลงรูปเดียวนะครับ
แสงจ้า ป. 2 เทพด้านการวาดของเรา
พี่แพม ป.3 เป็นบันทึกตอนวิทยาศาสตร์แสนสนุกในช่วงเช้า ซึ่งขณะที่น้องป.1 จดอะไรแทบไม่ได้เลย พี่แพมจดไป 2 หน้าค่ะ
พี่ทิม ป.3 จดเป็นระเบียบมากค่ะ
ครูสุคอยบอกเด็กๆเสมอค่ะว่า จดผิด สะกดผิดก็ไม่เป็นไร ให้เขียนด้วยภาษาธรรมชาติที่คิดกันได้ตอนนั้น ให้ถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในสมองออกมาก่อน เรื่องเขียนถูกผิดค่อยไปแก้กันทีหลังตอนสรุปงาน ซึ่งแม่อ้อเห็นด้วยอย่างมาก เพราะสิ่งสำคัญคือ ความคิดและการเชื่อมโยงความรู้ที่อยู่ในสมอง การเขียนเป็นเพียงแค่อุปกรณ์ที่จะใช้สื่อสารเท่านั้น ไม่ควรจะให้การเขียนมาเป็นอุปสรรคในการคิด
ในระหว่างที่เด็กๆจดงานกัน ก็มีพี่ๆกลุ่มใหญ่จากโรงเรียนอื่นเข้ามาดูนิทรรศการ สมาธิของเด็กๆปฐมธรรมเลยเริ่มแตกกระเจิง
แต่พี่ๆเข้ามาดูๆและถ่ายรูปกันแค่ 15 นาทีก็ไปแล้วค่ะ ไม่รู้ว่าได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง แต่ธีธัชได้เรียนรู้อยู่อย่างหนึ่งค่ะ เพราะธีธัชมาเล่าว่า มีพี่เดินมาดูธีธัชจด...แล้วก็ชมว่าธีธัชเก่ง จากนั้นพี่ก็หันไปถามเพื่อนข้างๆว่า "เออ...แล้วทำไมเราไม่จดล่ะเนี่ย" ธีธัชเล่าด้วยตาเป็นประกายอย่างภูมิใจ อย่างน้อยธีธัชก็ได้รู้ว่า เด็กประถม 1 ก็สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้พี่ได้เหมือนกัน