เข้าร่วม MultiplyOpen a Free Shopลงชื่อเข้าใช้งานวิธีใช้English
MultiplyLogo
SEARCH
แล้วก็ถึงคราวไปเรียนรู้กันที่อุทยานแมลงเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม กันอีกครั้ง ปีนี้เราได้เรียนรู้ต่อยอดเรื่องราวของแมลง สนุกกับการบรรยายสนุกๆโดย อ.มนตรี ทองยา ได้จับหนอนผีเสื้อ ได้เห็นไข่หนอน ได้เข้าไปดูแมลงเจ๋งๆในพิพิธภัณฑ์ และทำกรอบรูปผีเสื้อด้วย


นอกจากวิทยากรพี่โอ๊ตแล้ว ครั้งนี้เราโชคดีที่ได้ อ.มนตรี ทองยา ซึ่งเป็นรักษาการหัวหน้าอุทยานแมลงฯ มาช่วยบรรยายด้วยค่ะ อ.มนตรีเล่าเรื่องแมลงได้สนุกมาก มีการตั้งคำถามให้เด็กๆตอบ และชวนให้เด็กๆคิด เด็กๆเลยสนุกกันมากค่ะ


จุดแรกที่ไปคือ นิทรรศการแมลงผสมเกสร เริ่มต้นที่แมลงภู่ เป็นแมลงขนาดใหญ่ตัวอ้วนป้อม เวลามันบินไปหาน้ำหวาน เกสรดอกไม้จะติดที่หนวด ลำตัว หน้าและขา พอมันบินไปหาดอกไม้ใหม่ เกสรพวกนี้ก็จะหล่นบนดอกไม้ ทำให้เกิดการผสมเกสรขึ้น

แมลงภู่มีกรามที่แข็งแรงและคมมาก มันจึงสร้างรังด้วยการเจาะไม้เนื้ออ่อน เจ้าไม้ไผ่เหล่านี้ในรูป คือที่อยู่อาศัยของแมลงภู่นี่เองค่ะ


จากนั้นก็มาถึงตัวชันโรง (Stingless Bee) เป็นผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน ชันโรงเป็นแมลงผสมเกสรชั้นยอด เพราะไม่เลือกมาก ตอมดอกไม้หลายชนิด ถึงจะเป็นดอกไม้ที่เคยถูกแมลงตัวอื่นลงตอมแล้วก็ตาม ตัวชันโรงนี้ทำให้เกิด "ชัน" หรือยางไม้ผสมไขผึ้งซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของรัง สามารถกันน้ำได้ คนก็เลยเอามาทากระชุเพื่อกันน้ำค่ะ

ตัวชันโรงไม่ต่อย แต่จะตอมให้รำคาญ ถ้าเกษตรกรทำการเกษตรเชิงนิเวศน์ ก็สามารถเอารังชันโรงไปแขวนไว้ แล้วเจ้าชันโรงก็จะช่วยผสมเกสรให้เกิดดอกออกผลที่งอกงามค่ะ

อ.มนตรีตั้งคำถามกับเด็กๆว่า เราได้ประโยชน์อะไรจากแมลง เด็กๆตอบกันใหญ่ว่า ช่วยผสมเกสรดอกไม้ อ.มนตรีเสริมขึ้นอีกว่า แมลงช่วยย่อยสลายซาก และมนุษย์สามารถเรียนรู้ชีวิตของแมลงเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ได้ เช่น การเจาะ และการบินของแมลง โดยแมลงใหญ่เช่นแมลงภู่นั้นสามารถขยับปีกได้ 400-600 ครั้งต่อนาที ถ้าแมลงขนาดกลางก็จะกระพือปีกได้เร็วขึ้นเป็น 600-800 ครั้งต่อนาที แต่ถ้าเป็นแมลงตัวเล็กอย่างชันโรงจะขยับปีกได้เร็วถึง 900 ครั้งต่อนาที


พี่โอ๊ตยังเล่าถึงตั๊กแตนตำข้าว ว่าเป็นแมลงตัวห้ำ กินแมลงด้วยกันเป็นอาหาร มีสีเขียวพรางตัว ขาคู่หน้าเป็นแบบขาหนีบไว้จับเหยื่อ แล้วพี่ก็ตั้งคำถามว่าทำไมตัวเมียกินตัวผู้หลังจากผสมพันธ์เสร็จ เด็กๆตอบกันใหญ่ว่า เพราะเสียพลังเยอะ เพราะไม่งั้นตัวผู้จะกินลูก เพราะจะได้มีไข่เยอะๆ แล้วพี่ก็เฉลยว่า ตัวเมียกินตัวผู้เพื่อให้ได้สารอาหารอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเคลื่อนที่ไปไหน โดยตัวเมียจะกินแค่ครึ่งตัวบน ส่วนครึ่งตัวล่างยังสามารถปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่ของตัวเมียได้ ดังนั้นบางทีเราอาจจะเจอแค่ครึ่งล่างของซากตั๊กแตนตำข้าว ก็รู้ไว้เถิดว่าโดนตัวเมียกิน


อาจารย์มนตรียังตั้งคำถามเด็กอีกว่า เราสามารถปลูกต้นไม้โดยไม่มีแสงแดดได้ไหม เด็กบางคนก็ว่าเปิดไฟให้ก็น่าจะโตได้ บางคนก็บอกว่าไม่ได้ อาจารย์เลยเฉลยให้ว่า สามารถปลูกต้นไม้ได้ถ้าไม่มีแสงแดด โดยเราต้องรู้สเปกตรัมของแสงที่ต้นไม้ชอบ แล้วก็เปิดไฟให้มีสเปกตรัมตามนั้น ต้นไม้ก็จะเติบโตได้


จากนั้นเราก็เดินไปในโดมแมลง พอเข้าไปถึงก็เห็นกับดักแด้ที่พี่เค้าห้อยเอาไว้ให้ชม ติดไว้กับเชือก ห้อยกันอย่างนี้เลยค่ะ


พอเดินไปอีกหน่อยก็พบกับกล่องกระจกที่เก็บตัวหนอนหลายพันธุ์ไว้ทักทายเด็กๆ


ตัวแรกคือ หนอนของผีเสื้อถุงทองธรรมดา 



พระอกของงานคือ หนอนผีเสื้อจำปีธรรมดา ตัวนุ่มๆสีเขียวอ่อน น่ารักมากเด็กๆขอจับกันใหญ่เลย


ดูชุณฬี่สิคะ กลัวก็กลัว อยากจับก็อยากจับ


แต่พี่ธี...ชอบ


พี่แพมก็ชอบจับหนอน


แต่พอเจ้าหนอนมาอยู่ด้วยกันเต็มตู้อย่างนี้แล้ว เห็นแล้วขนลุกค่ะ


ส่วนตู้สุดท้ายคือ หนอนผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพู แต่พี่โอ๊ตไม่หยิบมาให้จับนะคะ เพาะพันธุ์มาได้น้อยค่ะ


แล้วเราก็ขึ้นไปเดินส่วนบนของโดมค่ะ


จะเห็นได้ว่ามีต้นไม้เต็มไปหมด เพราะมีทั้งต้นไม้ปลูกเพื่อให้ใบเป็นอาหารของหนอน และต้นไม้ที่ปลูกเพื่อให้ดอกไว้ให้น้ำหวานเป็นอาหารสำหรับผีเสื้อ โดยผีเสื้อตัวเต็มวัยจะกินแต่น้ำ และน้ำหวานค่ะ


พี่โอ๊ตอธิบายให้เด็กๆฟังถึงตั๊กแตนใบไม้ ซึ่งมีกลไกธรรมชาติทำให้มันเหมือนใบไม้มาก มีขาที่เรียบแบน ปีกก็มีลายเส้นเหมือนใบไม้ สีก็เหมือนใบไม้ เคลื่อนไหวช้าๆเหมือนใบไม้ เสียดายไม่ได้เห็นตัวจริง เนื่องจากเพาะพันธุ์ได้ไม่ทัน ต้องมีการหาพันธุ์จากต่างถิ่นเข้ามาผสมด้วยเพื่อให้พันธุ์แข็งแรง



อาจารย์มนตรี ยังเล่าถึงเรื่องการนำสัตว์และพืชต่างถิ่นมาเลี้ยงกันเพื่อความสวยงาม แต่พอเบื่อก็ปล่อยสู่ธรรมชาติ แต่มันเป็นเรื่องอันตรายสำหรับระบบนิเวศน์มาก เพราะสัตว์จะถูกควบคุมจำนวนด้วยผู้ล่า และสภาพแวดล้อม เมื่อย้ายถิ่นมาก็จะไม่มีผู้ล่าทำให้มีการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว เช่น หอยเชอรี่ที่ระบาดเป็นศัตรูต้นข้าว ปลานกยูงที่กินไม่เลือกทำให้กินไข่แมงปอและแมลงอื่น ปลา Sucker ที่ทำให้ตลิ่งพัง ดังนั้นเด็กๆไม่ควรเลี้ยงสัตว์ต่างถิ่นค่ะ 


ระหว่างที่เดินอยู่ในโดม อ.มนตรีอาศัยประสบการณ์ ตาไวมากค่ะ คอยชี้แมลงให้เด็กๆดูตลอดเวลา ที่สุดยอดคือ อาจารย์หาไข่ผีเสื้อให้เด็กๆดูค่ะ ฟองมันเล็กกระติ๊ดเดียวเองค่ะ แม่อ้อซูมด้วยกล้อง และเอามา Crop บนคอมพิวเตอร์ถึงจะใหญ่ได้ขนาดนี้ค่ะ


พี่โอ๊ตเล่าว่า ต้องใช้ผู้มีประสบการณ์สูงในการมองหาไข่ผีเสื้อ มองหายากค่ะ พอเห็นแล้วก็จะเก็บมาเลี้ยงกันตั้งแต่เป็นไข่อย่างนี้ จนกระทั่งฟักตัวเป็นหนอนตัวเล็กๆ เลี้ยงจนโตเข้าดักแด้ จนเป็นผีเสื้อ โหย..อดทนเฝ้ารอมากเลยค่ะ แล้วถ้าเป็นหนอนด้วงด้วยแล้ว เลี้ยงกันเป็นปีเชียวค่ะ


จากนั้นเราก็เดินออกไปดูตั๊กแตนกิ่งไม้ในส่วนข้างนอก (เค้าย้ายส่วนเก็บตั๊กแตนกิ่งไม้ออกจากโดมใหญ่ไปไว้ข้างนอกค่ะ) เด็กๆสนุกกับการหาตั๊กแตนกิ่งไม้กันใหญ่


ระหว่างที่ดูอยู่นั้นเด็กๆก็มองลงมาที่กระถางต้นไม้ด้านล่างแล้วก็ตื่นเต้นกันใหญ่ ไข่ตั๊กแตนกิ่งไม้!!! อาจารย์รีบมาดูแล้วก็บอกว่า มันเป็นปุ๋ยวิทยาศาสตร์ครับลูก!!


จุดต่อมาเราไปกันที่ส่วนจัดแสดงแมลง ตอนนี้ทุกคนแยกย้ายกันบันทึกแมลงที่ชอบค่ะ 


อาจารย์มนตรีก็ยังช่วยเล่าเรื่องราวแมลงให้เด็กๆฟังอยู่ตลอดค่ะ


แม่อ้อชอบด้วงค่ะ เวลากางปีกออกมาเป็นอย่างนี้ค่ะ เจ๋งไปเลย


ส่วนนี่ก็เป็นผีเสื้อนกฮูก ดูสิคะ ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ..เลียนแบบนกฮูกซึ่งเป็นนักล่า


แล้วก็มีผีเสื้อที่เลียนแบบผีเสื้อด้วยกันเอง เพราะแมลงต้นแบบนั้นอาจจะกินใบไม้ซึ่งทำให้ตัวเองมีรสชาติไม่อร่อย ไม่เป็นที่นิยมของนก เจ้าผีเสื้อผู้เลียนแบบก็เลยวิวัฒนาการปลอมตัวให้มีลายคล้ายกัน นกจะได้ไม่มากินไงคะ ดูไกลๆแล้วลายเหมือนกันมาก แต่ถ้าดูใกล้ๆจะแตกต่างต่างค่ะ ผู้เลียนแบบจะไม่มีรายละเอียดเท่าใดนัก ธรรมชาตินี่สุดยอดเลยค่ะ


และนี่ก็เป็นลีลาการบันทึกของเด็กๆค่ะ ตั้งใจกันมากเลย เห็นแล้วชื่นใจ










สมุดบันทึกของน้องแคท ป.1


สมุดบันทึกของน้องกัน ป.2


ธีธัช ป.2

พอถึงเวลาเที่ยง เราก็ตั้งวงทานข้าวกัน 



เมนูฮิตครั้งนี้คือ ปลากระป๋อง ของพี่พลค่ะ ทุกคนขอทานกันใหญ่ ไม่รู้พี่พลได้ทานบ้างหรือเปล่า


พอทานข้าวเสร็จเราก็มาประดิษฐ์กรอบรูปแมลงกันค่ะ โดยพี่เค้าจะแสดงขั้นตอนให้ดูก่อนจะปล่อยให้เด็กๆลงมือทำจริง 


ตอนที่พี่โอ๊ตอธิบายขั้นตอนนั้น เด็กๆสนใจมากจนเปลี่ยนจากที่นั่งกันติดเบาะ ก็เริ่มยกก้นขึ้น เริ่มยืนกัน สุดท้ายหัวก็เลยมาสุมกันเป็นภาพอย่างนี้





เด็กทุกคนตั้งใจฟังมากค่ะ มองกันตาแป๋ว



ตอนเด็กๆลงมือทำเราย้ายจากบนโต๊ะลงมาทำที่พื้นค่ะ จะได้มีพื้นที่ส่วนตัว


ขั้นตอนหลักมี แผ่นโฟมไว้วางด้านล่างสุด แล้ววางแผ่นสำลีขนาดเท่ากรอบรูปสำหรับเป็นฉากหลัง วางใบไม้และดอกไม้แห้งสำหรับตบแต่ง 



จากนั้นก็วางตัวผีเสื้อ แต่ของยากอยู่ที่ต้องมือเบาค่ะ ไม่งั้นปีกหัก ตัวหัก และหนวดหาย


พี่เค้ายังสอนว่าถ้าจะไปซื้อกรอบรูปแมลงที่ไหน ให้สังเกตที่หนวดว่าอยู่ครบ 2 เส้นหรือเปล่า และต้องดูให้ดีด้วยค่ะว่าเค้าไม่ได้หลอกเอาด้ายสีดำมาวางแทน 



จากนั้นก็พลิกด้านหลังประกบกระดานไม้ด้านหลังกลับเข้าไป


ติดเทปผ้าให้แน่น


พี่จิ๊บใจดีของเรา ซึ่งเป็นวิทยากรให้เราเมื่อปีที่แล้วก็ยังมาช่วยเด็กๆทำกรอบรูปค่ะ


แล้วนี่ก็คือผลงานเด็กๆค่ะ


พอได้เวลาพวกเราก็กล่าวขอบคุณพี่โอ๊ตวิทยากรใจดีของเรา และถ่ายรูปที่ระลึกหน้าโดมแมลงค่ะ




ดูรูปเพิ่มเติมได้ที่ http://mamaaor.multiply.com/photos/album/104/104

เพิ่มความเห็น