เข้าร่วม MultiplyOpen a Free Shopลงชื่อเข้าใช้งานวิธีใช้English
MultiplyLogo
SEARCH
รายการบล็อกJan 17, '12 11:11 AM
สำหรับ ทุกคน
เราเริ่มต้นทัศนศึกษาในเทอม 2 เราไปกันที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เพื่อเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์และแมลง โดยในช่วงเช้าเราดูนิทรรศการเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ดูดาวในท้องฟ้าจำลอง และช่วงบ่ายไปดูนิทรรศการโลกของแมลง

เราไปถึงกัน 9 โมงเช้า ดูแล้วไม่ค่อยแน่นขนัดเหมือนกับปีที่แล้ว สงสัยเด็กๆในระบบโรงเรียนคงกำลังวุ่นอยู่กับการเรียนชดเชยน้ำท่วม จนไม่ได้มาทัศนศึกษา พอไปถึงเด็กๆก็ทานของว่างขนมปังไส้กรอกกันก่อน จัดเต็มโดยแม่มุกค่ะ :-)


จากนั้นก็เดินดูนิทรรศการดาราศาสตร์รอบๆโดมท้องฟ้าจำลองกัน โดยก่อนมาทัศนศึกษานี้ครูกิมได้สอนเด็กๆเรื่องการดูดาวมาพอสมควร ทั้งเรื่องดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ สุริยจักรวาล รวมทั้งการอ่านแผนที่ดาว ทำให้เด็กๆเข้าใจนิทรรศการที่จัดไว้ได้มากขึ้น


วิทยากรของเราในครั้งนี้ก็คือ ครูกิม นั่นเองค่ะ  ยิ่งครูกิมทราบแล้วว่าเด็กๆมีพื้นฐานดาราศาสตร์อะไรมาบ้าง ก็อธิบายต่อยอดได้ตรงจุด 


จุดแรกที่แรกเป็นเรื่อง กาแล็กซีทางช้างเผือก หรือ Milky Way Galaxy เป็นกาแล็กซีรูปกังหันกว้างถึง 100,000 ปีแสง ประกอบไปด้วยดาวฤกษ์ 200,000 ล้านดวง



ดาวฤกษ์คือดาวที่แสงสว่างในตัวเอง ดาวที่เรามองเห็นในท้องฟ้าเกือบทุกดวงคือดาวฤกษ์ ส่วนดาวเคราะห์ที่เห็นด้วยตาเปล่ามีเพียง 5 ดวง คือ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ และดาวเสาร์


ถ้าใครคิดว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกนี่ใหญ่แล้ว ต้องคิดใหม่ค่ะ เพราะทั้งเอกภพนี้ ประกอบด้วยกาแล็กซีหลายแสนล้านแกแล็กซี!!! ดังนั้นโลกของเราก็เป็นแค่ผงธุลีเองค่ะ เทียบแล้วมนุษย์นั้นแทบจะไร้ความสำคัญไปเลยค่ะ


รูปนี้น้องทอมกำลังดูเส้นศูนย์สูตรโลกเทียบกับเส้นศูนย์สูตรฟ้าค่ะ


รูปนี้ครูกิมกำลังสอนเด็กๆให้ดูแผนที่ดาวค่ะ อันที่ใช้ที่โรงเรียนเป็นแบบทำมือ พิมพ์มาจากในเน็ต ตัวหนังสือเล็กนิดเดียวจนต้องใช้แว่นขยาย แต่ที่นี่...แผนทีี่ดาวใหญ่สะใจดีแท้



เด็กๆบันทึกโมเดลแสดงสุริยวิถี เทียบกับเส้นศูนย์สูตรโลก 


ต่อมาเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศของมนุษย์ 


เด็กๆได้ลองเล่นกระโดดบนแบบจำลองการเหยียบดวงจันทร์


พอถึงเวลา 11 โมง เราก็เข้าไปในห้องดูท้องฟ้าจำลองกัน เด็กๆเคยมากันเมื่อปีที่แล้ว ถึงแม้จะเป็นการทัศนศึกษาซ้ำ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเด็กๆมีความเข้าใจกันมากขึ้น สังเกตจากความพยายามในการตอบชื่อหมู่ดาวก่อนที่วิทยากรจะตอบ จะถูกบ้างผิดบ้าง ก็ตื่นเต้นที่จะตอบ 


วิทยากรแสดงแผนที่ดาวของวันปัจจุบัน บอกเด็กๆให้ไปดูดาวตอนหัวค่ำหลังพระอาทิตย์ตกซัก 7 โมงเย็น จะเป็นดาวประจำเมืองหรือดาวศุกร์ ซึ่งโคจรตามพระอาทิตย์มาตั้งแต่เช้าแล้ว แต่เราไม่เห็นเพราะถูกแสงอาทิตย์กลบหมด ต้องรอพระอาทิตย์ตกก่อนแล้วถึงจะเห็นดาวศุกร์ และถ้ารอไปอีกซัก 2 ชั่วโมงก็จะเห็นดาวพฤหัส สำหรับวีดีโอในช่วงหลังเป็นเรื่อง อุกกาบาตชนโลก เด็กๆดูกันอย่างตื่นตาตื่นใจเชียวค่ะ


พอจบการดูดาวในท้องฟ้าจำลอง เราก็พักทานข้าวกันค่ะ เด็กๆตั้งวงทานข้าวกันอย่างสนุก แลกกับข้าวกันวุ่นวายตามปกติค่ะ





พอตอนบ่ายเราไปดูนิทรรศการ โลกของแมลง สิ่งที่แม่อ้อสัมผัสได้ในครั้งนี้คือ เด็กๆวิ่งวุ่นกันน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วซึ่งอะไรก็ใหม่ไปหมด ทำให้ครั้งที่แล้วใช้เวลาในการเดินหาหัวข้อที่สนใจไปซะมากกว่า อย่างธีธัชครั้งนี้ก็เดินเข้าไปบันทึกหัวข้อ ขาของแมลงแบบต่างๆ 


ส่วนเด็กๆคนอื่นก็บันทึกในหัวข้อที่ตัวเองสนใจ





ครั้งนี้พอมีเวลา แม่อ้อเลยได้ถ่ายรูปสมุดบันทึกของเด็กๆมาอวดด้วยค่ะ

สมุดบันทีกของน้องแพม ป.4


บันทึกของพี่ทิม ป.4



ธีธัช ป.2



และเหมือนกับทุกครั้งที่เราต้องทำเมื่อกลับไปถึงโรงเรียน คือการสรุปองค์ความรู้ในกระดาษเปล่า โดยเด็กๆจะใช้ข้อมูลที่ในสมุดบันทึกของเด็กๆนั่นล่ะค่ะ ดังนั้นใครจดมาน้อยก็จะมารับกรรมกันตอนนี้ค่ะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า

นี่เป็นผลงานการสรุปของเด็กๆค่ะ 

ธีธัช ป.2



สรุปของพี่ทิม ป.4



น้องแพม ป.4



น้องจั้ง ป.1



ดูรูปที่เหลือ ซึ่งเอามาใส่ในนี้ไม่หมด ได้ที่ http://mamaaor.multiply.com/photos/album/103/103


เพิ่มความเห็น