27 สิงหาคม 2553
หลังจากที่เรียนประวัติศาสตร์ไทยกับครูเจนที่โรงเรียนแล้ว วันศุกร์นี้เราก็เลยไปกันที่สยามมิวเซียมเพื่อเรียนรู้ต่อยอดกันที่ มิวเซียมสยาม พอประตูเปิดตอน 10 โมงปุ๊บ เราก็เข้าไปกันเป็นกลุ่มแรกเลย
ครูเจนตั้งโจทย์ให้เด็กๆศึกษาไว้ 3 ข้อ คือ สุวรรณภูมิ สยาม(รวมช่วงอยุธยา) และประเทศไทย แต่เนื่องจากมีกลุ่มนักเรียนซึ่งจะมากันกลุ่มใหญ่ เราเลยไม่สามารถดูไล่ตามยุคได้ ต้องไปเริ่มกันที่่ “สยาม” ในห้องแผนที่ประเทศไทย
การแบ่งอาณาเขตเกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 3 ซึ่งต้องแบ่งอาณานิคมพม่าของอังกฤษ กับประเทศราชเชียงใหม่ของสยาม ก่อนหน้านั้นเรื่อง เขตแดน ไม่มีอยู่ในความคิดของชาวสยามเลย ตอนที่ฝรั่งถามเรื่องเขตแดน ทางสยามบอกว่าให้ไปถามชาวบ้านแถวนั้น !
การสร้างเมืองบางกอกหลังจากสิ้นอยุธยานั้น เป็นการสร้างเลียนแบบอยุธยาซึ่งเป็นยุคทอง สร้างทั้งวัดและวัง โดยมีการเกณฑ์คนลาว และเขมรมาช่วยสร้างเมือง ขุดคลอง พอทำงานเสร็จก็ตั้งรกรากกันที่นี่ ทำให้เกิดความหลากหลายทางเชื้อชาติขึ้น
จากนั้นเราก็ผ่านห้องที่เริ่มการเปลี่ยนแปลงสยามประเทศ ไปเป็นประเทศไทยในสมัยรัชการที่ 5 ที่เป็นช่วงที่มีริ่เริ่มสิ่งต่างๆมากมาย ทั้ง การประปา ไปรษณีย์ โทรศัพท์ การรถไฟ การแต่งกาย
ห้องต่อมาเป็นช่วง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นช่วงสร้างชาติ เริ่มมีเพลงชาติ โทรทัศน์ การเลิกหมาก การใส่รองเท้า การแต่งกายให้สุภาพ รูปนี้เด็กๆสนุกกับการออกโทรทัศน์ค่ะ
แล้วเราก็ย้อนกลับขึ้นไปที่ห้อง สุวรรณภูมิ ระหว่างนี้เริ่มมีกลุ่มนักเรียนมากันเยอะมาก พี่วิทยากรก็ไม่ว่างแล้ว ครูเจนเลยเริ่มบรรยายเอง ซึ่งแม่ว่าดีกว่าที่วิทยากรพูด เพราะเรื่องราวจะไม่เยอะเกินไป อธิบายส่วนที่สำคัญ เช่น สุวรรณภูมิมีทองจริงๆหรือ ครูเจนถามให้เด็กๆคิด เด็กช่วยกันตอบ จนสุดท้ายสรุปได้ว่า เรามีสิ่งที่เปรียบเหมือนทอง คือ แผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ที่สามารถเพาะปลูกได้ดี และนำไปแลกกับสินค้าอื่นได้
ครูเจนชี้ชวนให้แผนที่ว่าในแต่ละประเทศเค้าเอาสินค้าอะไรมาแลกกันบ้าง มีทั้ง เพชร พลอย เครื่องเทศ งาช้าง หยก เครื่องลายคราม แร่ดีบุก ฯลฯ เด็กๆยังได้ลองเล่นเกมคอมพิวเตอร์สมมติว่าเป็นพ่อค้าค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับพ่อค้าคนอื่น
เนื่องจาการค้าขายกับชาวต่างชาติ ทำให้ศาสนาและความเชื่อก็เริ่มเข้ามา ที่บอร์ดนี้ เด็กๆสนุกกับการเอาไฟฉายส่องไปจุดต่างๆ ซึ่งจะเรืองแสงออกมาเป็นสีเขียว แดง และฟ้า ซึ่งแต่ละสีก็จะเป็นการบอกว่าเป็นความเชื่อแบบพุทธ พราหมณ์ หรือผี ความเชื่อแบบพราหมณ์ที่มากับศาสนาฮินดูนี่เองที่ไทยเลือกรับความเชื่อที่ว่า กษัตริย์เป็นเทวราชา แต่ไม่เลือกรับระบบชนชั้น ซึ่งแม่คิดว่า…โชคดีจริงๆไม่งั้นเราอาจจะอยู่วรรณะศูทรที่อยู่ล่างสุดแน่ๆเลย
ที่ห้องพุทธิปัญญา เด็กๆได้ฟังคำสอนของ หลวงพ่อปัญญา ที่นี่เอง ที่แม่ได้อ่านคำอธิบายศาสนาพุทธที่แม่ชอบมาก
“What is Buddhism?
Buddhism is a clear and accurate understanding of reality as we humans experience it; without any speculation, appeal to faith, or claim to supernatural authority.”
ชัดมั้ยคะ ว่าความเชื่อนอกเหนือธรรมชาตินั้นไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธค่ะ! เป็น “ศาสนาของผู้รู้ คือรู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงถึงที่สุด”
ห้องต่อมาเด็กๆได้ฟังพี่วิทยากรเล่าตำนานท้าวอู่ทอง ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา
ที่ห้อนี้มีสื่อที่น่าสนใจ ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของอาณาจักร์ต่างๆ โดยมีตัวเลขปีพ.ศ.อยู่ที่ด้านบนซึ่งเลขปีจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนแผนที่ด้านล่างนั้นก็จะมีจุดสีซึ่งจะเรืองแสงออกมาถ้าบริเวณนั้นอยู่ในยุคที่รุ่งเรืองตรงตามเลขปีด้านบน ซึ่งแน่นอนค่ะ ยุคที่รุ่งเรืองที่สุด คือ อยุธยา
ที่ห้องอยุธยา เด็กๆได้รู้ว่า อยุธยา มาจากคำว่า รบไม่แพ้ มีความรุ่งเรืองถึงขีดสุด เมืองหลวงวิจิตรใหญ่โต มีถนนและคลองไว้เป็นทางคมนาคม มีวัดมากกว่า 300 แห่ง
อยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบ 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ทำให้เหมาะแก่การค้าและเป็นศูนย์กลางการค้าขายเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าต่างประเทศอีกด้วย
จากนั้นเราก็ไปทานข้าวกล่องที่เราเตรียมมา เราตั้งวงกันตรงศาลาด้านหลัง เด็กๆสนุกกับการแลกอาหารกันกินเหมือนทุกครั้ง
เนื่องจากในช่วงเช้าเราต้องผจญกับพี่ๆนักเรียนกลุ่มใหญ่เป็นร้อย ทำให้เด็กๆไม่มีสมาธิในการบันทึก ครูเจนจึงตัดสินใจให้เด็กๆกลับไปทำงานบันทึกอีกครั้ง โดยเน้นกันที่ 3 ห้อง คือ สุวรรณภูมิ, อยุธยา และการเปลี่ยนแปลงใน ร.5 ซึ่งรอบนี้เด็กๆได้บันทึกกันเต็มอิ่ม
นี่เป็นบันทึกของพี่แสงจ้า
บันทึกของอิงฟ้า
เด็กๆถึงกับนอนพังพาบจดกันที่พื้นเลย
ทัศนศึกษาคราวนี้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่สุวรรณภูมิ สยาม อยุธยา กรุงธนบุรี และช่วงเปลี่ยนแปลงมาเป็นประเทศไทย อาทิตย์หน้าเราจะไปอยุธยากันเพื่อสัมผัสของจริงกันค่ะ
ดูรูปความน่ารักของเด็กๆที่ไม่ได้เอามาใส่ไว้ในบล็อกได้ที่ http://mamaaor.multiply.com/photos/album/82
ข้อมูล มิวเซียมสยาม http://www.ndmi.or.th/museums/museums_of_siam/index.html