สมัยแม่เรียนเรื่องร่างกายของเรา แม่เรียนจากรูปในหนังสือ แต่ธีธัชและเพื่อนที่ปฐมธรรมเรียนรู้โดยไปทัศนศึกษาที่ พิพิธภัณฑ์กายวิภาค-คองดอน โรงพยาบาลศิริราช (แม่ว่า..มันเจ๋งสุดๆเลย)
พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์-คองดอน ก่อตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ เมื่อทางมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ได้ส่งศาสตราจารย์ เอ็ดการ์ด เดวิดสัน คองดอน(Edgar Davidson Congdon) มาสอนวิทยาการแพทย์ตะวันตกให้กับนักศึกษา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมา ศ.นพ. สุด แสงวิเชียร ได้พัฒนาจนเป็นพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์
เราไปกันเป็นกลุ่มเล็กๆ คุณครู 3 ท่าน คือ ครูสุ, ครูเจน และครูจัน เด็กป.1 มี 7 คนและ ป.2-3 อีก 5 คน ก่อนเข้าไปดู ครูเจนตั้งหัวข้อให้เด็กๆให้ศึกษา 6 ระบบ ได้แก่ ระบบย่อยอาหาร, ระบบหมุนเวียนโลหิต ,ระบบหายใจ ระบบประสาท(ตา หู จมูก ปาก), ระบบกล้ามเนื้อโครงกระดูก และระบบขับถ่าย แต่สำหรับเด็กป.1 นั้น ครูจะเน้นให้บันทึกสิ่งที่ชอบก่อน ยังไม่เป็นเรื่องราวมากเท่ากับพี่ๆป.2-3
ห้องแรกที่เราเข้าไป เป็นห้องกระดูก จัดแสดงกระดูกและข้อต่อทุกชิ้นในร่างกาย มีทั้งกระดูกแบบเป็นชิ้นๆ กระดูกสะโพก ขา แขน และกระดูกแบบเต็มตัวของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เด็กๆส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการกลัวซึ่งคงเป็นเพราะเคยมากันหลายครั้งแล้ว เมื่อตอนอนุบาลธีธัชก็มากับทางรร.ทุกปี จะมีก็น้องมดตะนอยก็บ่นว่าหนูต้องฝันร้ายแน่เลย แต่แม่อ้อก็เห็นหนูนั่งวาดรูปใหญ่เลย
ภาพประทับใจภาพของแม่อ้อก็รูปนี้เลยค่ะ เด็กๆนั่งกับพื้นไม้วาดรูปโครงกระดูก (ธีธัชคนขวาค่ะ)
ห้องที่สองเป็น ห้องกายวิภาคศาสตร์ทั่วไป เต็มไปด้วยตู้จัดแสดงอวัยวะต่าง ทั้งปอด หัวใจ ตับ ไต ลำไส้ เส้นเลือด วิวัฒนาการเติบโตของเด็กในครรภ์ และฝาแฝดติดกันในลักษณะต่าง ๆ ไม่ใช่แบบแห้งๆ หรือรูปภาพนะคะ โอ้โฮ..เห็นกันเแบบของจริงเป็นชิ้นๆแช่ในน้ำฟอร์มาลีน (ที่นี่เค้าไม่อนุญาติให้ถ่ายรูปค่ะ เลยไม่สามารถถ่ายมาอวดได้ ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ถ่ายแต่รูปเด็กๆเท่านั้น อิ อิ ดูแต่รูปเด็กๆไปนะคะ)
นอกจากนี้ยังมีอาจารย์ใหญ่ซึ่งอยู่แช่อยู่ในกล่องพลาสติกใสขนาดใหญ่ทำให้่เด็กๆได้เห็นร่างกายเต็มตัว มีการตัดขวางตรงส่วนขาเพื่อให้เห็นตั้งแต่กระดูก ชั้นกล้ามเนื้อ ไขมัน และผิวหนัง ส่วนตรงหน้าอกก็ได้เห็นหมดว่าปอดและหัวใจอยู่ตำแหน่งไหน
รูปนี้เป็นรูปที่เด็กๆกำลังฟังวิทยากรอธิบายเรื่องอาจารย์ใหญ่ทั้ง 2 ท่าน
นอกจากวิทยากรแล้ว ครูเจนก็ยังคอยอธิบายความสำคัญและหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ โดยไม่ลืมที่จะเชื่อมโยงเข้ามาถึงตัวเด็ก และสอดแทรกวิธีการดูแลร่างกายของเรา เช่น กระดูกสันหลังเป็นที่รวบรวมเส้นประสาทเพื่อส่งสัญญาณไปให้สมอง ถ้าเด็กๆไปทุบหลังเพื่อนแรงๆแล้วกระดูกสันหลังหัก หรือกระโดดสระว่ายน้ำเอาหัวพุ่งลงแล้วคอหัก(เด็กๆเพิ่งไปเรียนว่ายน้ำที่สระมหิดลเมื่อวันจันทร์) อวัยวะที่ต่ำลงไปจากนั้นก็จะใช้งานไม่ได้ เด็กๆก็ต้องนั่งรถเข็น
พอดูหัวกระโหลก..เด็กๆตอบได้ว่ากะโหลกมีหน้าที่ปกป้องสมอง และเด็กๆยังสังเกตว่าถึงแม้อายุมากแค่ไหนสมองก็จะไม่แข็งจึงต้องมีกะโหลกแข็งๆหุ้ม ครูเจนตั้งคำถามทันทีว่า ถ้าเราเอาของแข็งไปทุบหัวเพื่อนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?
หรืออย่างตอนดู “ไต” ในรูปแบบตัดขวางซึ่งมีก้อนนิ่วฝังอยู่ที่กรวยไต ครูเจนก็สอนเด็กๆว่าถ้ากลั้นปัสสาวะก็อาจจะเกิดก้อนนิ่วได้ และหากว่าเรากินเลย์มากๆไตก็จะต้องทำงานหนักเพื่อเอาของเสียออกจากร่างกาย
เด็กๆตื่นเต้นกันมาก อย่างน้องทอมก็เดินมาชวนแม่อ้อไปดูเด็กที่มีจมูกขึ้นที่หน้าผาก
ธีธัชก็ชวนไปดูเด็กแฝดที่มีก้นติดกัน มีท้องติดกัน ก่อนหน้านี้ธีธัชเคยถามว่า สะดือมีไว้ทำอะไร ที่นี่ธีธัชเลยได้คำตอบจาการเห็นสายสะดือและรกว่ามีหน้าที่นำอาหารมาให้หนูตอนหนูอยู่ในท้องแม
เป็นโชคดีที่วันนี้ไม่ค่อยมีคนเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ในช่วงสุดท้ายครูเจนจึงสรุปการเรียนรู้ด้วยการให้เด็กๆหาอวัยวะที่ครูเจนบอก ไล่กันตั้งแต่ ตับอ่อน ไต หัวใจ ปอด เด็กๆก็จะรีบเดินไปหาตู้ที่แสดงอวัยวะชิ้นนั้น และบอกถึงความสำคัญของอวัยวะนั้น
แม่ภูมิใจมากที่ธีธัชหา “ไต” เจอ และสามารถตอบได้ว่าเส้นเลือดแดงมีออกซิเจนเยอะและี่ปอดจะช่วยเติมออกซิเจนให้เลือด
ตอนสุดท้ายคุณครูเจนยังพาไปดูตู้ที่แสดงอวัยวะภายใน แล้วชี้ให้เด็กๆตอบว่าส่วนไหนคืออะไร เด็กๆตอบกันอย่างฉะฉาน ถูกบ้างผิดบ้างแต่ก็แย่งกันตอบใหญ่เลย
เราใช้เวลากัน 2 ชั่วโมง พอเที่ยงก็กลับไปทานข้าวที่โรงเรียน ตอนบ่ายเด็กๆสรุปผลการเรียนรู้ ซึ่งจะถูกแสดงในนิทรรศการแสดงร่องรอยการเรียนรู้ของเด็กๆตอนกลางเทอม ส่วนบันทึกที่เด็กๆวาดกันแม่อ้อไปขอถ่ายรูปมาได้บางส่วนค่ะ
ของพี่แสงจ้า ป. 2
พี่แพม..สมอง ก้านสมอง ไขสันหลัง ไต กระเพาะปัสสาวะ
ภาพจากวิน..สมองและลำไส้เล็ก
ภาพของธีธัช..ไตและปอด (แม่กลับมาถ่ายรูปที่บ้าน)
แต่งานยังไม่จบเท่านี้ค่ะ การบ้านประจำอาทิตย์นี้ก็เป็นการย้ำสิ่งที่ได้เรียนรู้ ให้เด็กๆตัดแปะคำให้สัมพันธ์กับอวัยวะต่างๆ
มีมาหลายหน้าให้ทำค่ะ ทำเสร็จแล้วเป็นอย่างนี้ค่ะ
อยากตบท้ายในสิ่งที่แม่สังเกตได้อย่างหนึ่งในวันนี้ คือ สิ่งที่เด็กๆสนใจมากจะเป็น “ที่มา” ของเด็กที่แช่อยู่ในโหลและอาจารย์ใหญ่ คำถามจะมาในแนว เค้าเป็นใคร ชื่ออะไร อายุเท่าไหร่ ทำไมถึงตาย คำถามสุดยอดที่เรียกน้ำตาแม่ได้ คือ “เด็กมาอยู่ที่นี่แล้วแม่ของเด็กร้องไห้มั้ย” โอ..น้ำตาคลอขึ้นมาทันที
ยังมีรูปอีกเยอะให้ดูค่ะ ไปดูได้ที่ http://mamaaor.multiply.com/photos/album/68/68