พิพิธภัณฑ์ดิน

สัปดาห์นี้กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมพาเด็กๆไปเรียนรู้เรื่อง ดิน ที่พิพิธภัณฑ์ดิน ซึ่งตั้งอยู่ในกรมพัฒนาที่ดิน บน ถ.พหลโยธิน ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  
พอเข้าไปถึงภายในพิพิธภัณฑ์ดิน ก็เห็นภาพดินบนกรอบไม้ขนาดใหญ่ ดูแล้วเป็นงานศิลปะชิ้นเอกเลยค่ะ 
ต่อมาเด็กๆได้เห็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการศึกษาดิน มีทั้งอุปกรณ์ในการขุด กล้อง สมุดเทียบสีดิน เข็มทิศ แผนที่ เครื่องวัดระยะ 
เด็กๆได้เรียนรู้ว่า ดินเกิดจากการสลายตัวของหิน และแร่ธาตุ มาผสมกับอินทรีย์วัตถุได้แก่พืชและสัตว์ ดินในแต่ละที่จะแตกต่างกันไป ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ลักษณะหินที่เป็นวัตถุต้นกำเนิดดิน เช่นหินปูน หินทราย หินแกรนิต ตะกอน
ถัดมาเป็นส่วนแสดงดินที่มีปัญหาต่อการปลูกต้นไม้ ได้แก่ ดินเปรี้ยวซึ่งมีกรดกำมะถันสูง ดินเค็มเพราะมีเกลือในดินทำให้พืชโตไม่ได้ ต้องแก้ไขด้วยการใส่ปูนขาว หรือ Marl  ดินทรายซึ่งเก็บน้ำไม่ได้ต้องแก้ไขด้วยการปลูกพืชและไถกลบ  
วิทยากรตั้งคำถามว่า ดินทรายมีลักษณะเป็นอย่างไร ได้ยินเสียงเด็กตอบว่า “ใส่น้ำแล้วเปียก” ฮ่า..ฮ่า…ก็จริงของเด็กๆนะคะเนี่ย แต่ก็มีคนตอบได้ว่า “ใส่น้ำแล้วน้ำไหลออกหมด” ที่แม่ชอบก็คือนอกจากคำบรรยายเรื่องดินแล้วยังมีลักษณะหน้าตัดของดินแสดงให้ดูด้วย โดยด้านบนสุดก็คือผิวดิน ส่วนล่างลงมาก็คือดินที่ขุดลงไปด้านล่างซึ่งน่าจะลึกประมาณ 2 เมตร อันนี้เป็นดินทรายสังเกตว่าผิวดินเป็นทรายทั้งนั้นเลย
อันนี้เป็นดินเปรี้ยว สีจะซีดๆ
ต่อมาก็ดูแผนที่ประเทศไทยซึ่งแสดงลักษณะของดินที่มีปัญหาในส่วนต่างๆของประเทศ 
(สีแดงไม่ใช่เสื้อแดงนะคะ แต่เป็นปัญหาดินอินทรีย์ซึ่งมีเยอะที่ภาคกลาง)
การศึกษาดิน จะแบ่งดินเป็นชั้นๆ 5 ชั้น ได้แก่ O-A-E-B-C และชั้นหินใต้สุด R 
ในรูปเป็นแท่งหินแสดงลักษณะของดินทั้ง 5 ชั้น ได้แก่
1. ชั้นบนสุดเป็นชั้น O ซึ่งอยู่บนสุดจะมีสีเข้มสุดเพราะมีซากพืชเยอะ 
2. ส่วนชั้น A จะเป็นชั้นบางๆถัดมาซึ่งเป็นชั้นที่ซากพืชซากสัตว์ที่สลายตัวแล้วผสมอยู่กับแร่ธาตุในดิน 
3. ชั้น E (Eluviation) เป็นชั้นที่มีสีซึดๆ เพราะมีการชะล้างสูง
4. ชั้น B เป็นชั้นสะสม มีสีแดงเพราะมีธาตุเหล็กเยอะ
5. ชั้น C เป็นชั้นวัตถุต้นกำเนิดดิน จะเป็นชั้นที่เห็นหินเป็นก้อนๆเลยล่ะค่ะ
เด็กๆยังได้ดูวีดีโอขั้นตอนการศึกษาดิน 
เริ่มตั้งแต่การเก็บตัวอย่างดิน ทำกันจริงๆจังขุดเป็นหลุมสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ กว้าง 1 เมตร ยาว 3 เมตร ลึก 2 เมตร แล้วค่อยแบ่งชั้นดินจากลักษณะ เช่น  ความหนาแน่น สี ความเหนียว การเก็บดินก็มีทั้งเก็บใส่ถุง ใส่กระป๋องเหล็ก แต่ที่น่าตื่นตาคือ เก็บมาทั้งหน้าตัดของดิน เวลาเก็บต้องเอากรอบไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว 2 เมตร ตอกเข้าไปตรงด้านข้างของหลุมขุด แล้วก็ค่อยๆแซะเอากรอบไม้ขึ้นมา โดยต้องไม่ให้ดินหลุดเลื่อน แล้วสุดท้ายพ่นกาวน้ำเพื่อให้ดินยึดติด แล้วค่อยเอามาจัดแสดงอย่างนี้ได้
เด็กๆได้เรียนรู้อีกว่า การจำแนกดินด้วยสีอย่างง่ายๆ คือ ดินดำนั้นอุดมสมบูรณ์ ดินสีแดงจะระบายน้ำดี ดินสีอ่อนๆซีดๆนั้นการชะล้างสูง  ดินสีเทามีน้ำขัง
ต่อมาเป็นมุมจัดแสดงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีทั้งโครงการแกล้งดินที่ทดลองทำให้ดินเปรี้ยวด้วยการระบายน้ำให้แห้งและทำให้เปียกสลับกันเพื่อศึกษาวิธีแก้ดินเปรี้ยว  โครงการหญ้าแฝกป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และรักษาหน้าดิน
ที่นี่เราได้เห็นหญ้าแฝกอายุ 12 เดือนที่จัดแสดงไว้ ส่วนสีเขียวด้านบนคือต้น ส่วนสีน้ำตาลคือราก! (จริงๆแล้วด้านล่างจะยาวไปถึงพื้นเลยแต่พอดีเด็กๆยืนบัง) ประมาณแล้วน่ายาวซัก 2 เมตรได้ เด็กๆตื่นเต้นกันมาก เพราะนอกจากรากยาวแล้ว ก็ยังแตกแขนงเป็นรากเล็กๆเต็มไปหมด มิน่าถึงสามารถยึดดินไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ก่อนกลับเด็กๆบางคนไปนั่งจดพระราชดำรัสของในหลวงเรื่องการพัฒนาดิน
ผลงานการจดของน้องบุ๋น ป.2 ค่ะ
ส่วนนี่เป็นของพี่แสงจ้า ด้านบนมีวาดรูปในหลวงด้วยค่ะ
งานนี้เด็กๆได้เรียนรู้เรื่องดินมากมาย ทางพิพิธภัณฑ์ยังช่วยจัดวิทยากรใจดีมาให้ทั้งหมด 5 คน คอยเล่าเรื่องราว ตอบคำถามให้เด็กๆ และจัดหาน้ำดื่มให้ด้วย ขอขอบพระคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่านค่ะ
จากนั้นก็เป็นเวลาทานข้าวเที่ยง วันนี้พิเศษหน่อยเพราะเราเตรียมข้าวกันมาทานกันที่นี่เลย เนื่องจากเรามาไกลจากโรงเรียน กลัวว่าเด็กๆจะหิว ตอนแรกกะว่าจะปูเสื่อกินกันใต้ร่มไม้ แต่พี่ๆวิทยากรบอกว่าที่นี่มีโรงอาหาร! เย้..เย้..


งานนี้เลยเป็นการประชันข้าวกล่องกัน เริ่มด้วยครอบครัวพี่แพมและทอม มิเสียแรงที่พี่แพมอยู่ ป.3 มีประสบการณ์ทานข้าวนอกสถานที่มาอย่างโชกโชน เลยยกมากันคนละเถาปิ่นโต มีข้าวกล้อง ไข่เจียว ผัดผัก และหมูทอด 


ของพี่ทิมก็ไม่น้อยหน้า มีข้าวกล้อง ไข่เจียว ปลากระป๋อง(น่ากินมาก) และแตงโม


พวกมือใหม่ ป. 1 มดตะนอยมาเป็นแซนวิช สำหรับธีธัช และบุ้งกี๋ มาเป็นข้าวผัด ฮ่า..ฮ่า..

(รูปนี้ ธีธัชชิมมะนาวค่ะ)


ยกเว้นอิงฟ้ามาเป็นปิ่นโตเหมือนพี่ๆ ที่เด็ดสุดคือมีน้ำซุปผักกวางตุ้ง !! อิงฟ้าทานผักเก่งจริงๆ


งานนี้แม่อ้อต้องกลับไปปรับปรุงเมนูเป็นการด่วน และต้องไปหาปิ่นโตมาใช้เพื่อลดโลกร้อนแล้วล่ะค่ะ


ดูรูปที่ไม่ได้เอาไว้บนบล็อกที่ http://mamaaor.multiply.com/photos/album/72