พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา


19 พฤศจิกายน 2553

หลังจากที่ไปหอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติฯในช่วงเช้าแล้ว ช่วงบ่ายเราไปกันที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งอยู่ข้างๆตึกลูกเต๋า 


พอเราเข้าไปนึกว่าจะได้เดินชมนิทรรศการที่จัดไว้ แต่เป็นเพราะคุณครูได้ทำจดหมายติดต่อขอวิทยากรเพื่อเรียนรู้เรื่องแมลงโดยเฉพาะ ให้สอดคล้องกับหัวข้อแมลงที่เรากำลังเรียนกันในเทอมนี้ เจ้าหน้าที่จึงพาพวกเราตรงขึ้นไปที่ชั้น 2 เดินผ่านประตูเข้าไปในห้องใหญ่ๆที่มีตู้อยู่เต็มไปหมด ดูแล้วเป็นส่วนทำงานของเจ้าหน้าที่มากกว่า


แต่ที่แม่อึ้งที่สุดก็คือ พี่ๆทีมงานที่ยืนอยู่รอบๆ นับดูได้เกือบ 10 คน เอ..ทำไมเยอะอย่างนี้ ไปทัศนศึกษาที่ไหนก็ไม่เคยเจอเจ้าหน้าที่เยอะขนาดนี้ แต่ไม่ทันได้คำตอบ วิทยากรก็ิเริ่มบรรยาย แม่ต้องหันไปถามพี่ๆด้านข้างว่า วิทยากรของเราเป็นใคร เพราะพูดคุยกับเด็กๆอย่างสนุกสนาน เสียงดังฟังชัด พี่บอกว่า ท่านคือ อ.ธัญญา จั่นอาจ เป็นผู้อำนวยการกองวัสดุ อุเทศธรรมชาติวิทยา ว้าว…เราโชคดีที่ผู้อำนวยการว่างมาเป็นวิทยากรให้เชียวนา


อาจารย์เล่าว่า ในจำนวนสัตว์ทั้งหมดนั้น แมลงมีจำนวนมากที่สุด มีมากถึง 70% ของสัตว์ทั้งหมด แมลงเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีแต่โครงสร้างแข็ง เปลือกข้างนอกเป็นสารไคติน 


แมลงมี 3 ส่วน ได้แก่ หัว อก และท้อง อาจารย์ก็ตั้งคำถามว่าขาของแมลงงอกออกมาจากส่วนใด เด็กๆตอบกันถูกว่า ท้อง  


แล้วเด็กๆก็ตั้งคำถามว่า ทำไมผีเสื้อกลางคืนไม่หุบปีก แต่ผีเสื้อกลางวันนั้นหุบปีกเวลาเกาะ อาจารย์ตอบว่า ผีเสื้อกลางวันนั้นต้องกระพือปีกบินเพื่อดูดน้ำหวานจากดอกไม้ ดังนั้นธรรมชาติจึงสร้างให้ลายของปีกด้านบนและล่างไม่เหมือนกัน โดยด้านบนนั้นจะมีสีสันสดใส ส่วนปีกด้านล่างนั้นจะเป็นสีทึมๆ ทำให้เวลาเกาะแล้วหุบปีก สีทีมๆนี่เองจะช่วยพรางตัวให้เหมือนกับสภาพแวดล้อม เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ ส่วนผีเสื้อกลางคืนนั้นมีลายบนปีกด้านบนไว้พรางตัวเลยจึงไม่ได้หุบปีกเวลา


ต่อมาอาจารย์ก็ให้เด็กๆแยกย้ายไปนั่งตามโต๊ะที่จัดไว้ 2 ตัว แล้วอาจารย์ก็เริ่มอธิบายขั้นตอนคร่าวๆของการเซ็ตแมลง อุแม่เจ้า…เซ็ตแมลง ที่แท้เจ้าหน้าที่เยอะแยะที่จัดไว้ก็มีไว้เพื่อการนี้นี่เอง พี่ๆเค้าคงไม่วางใจปล่อยผีเสื้ออันบอบบางอยู่ในมือลิง 13 ตัวของเรา ถึงกับต้องประกบกันแทบจะ 1 ต่อ 1 นี่เอง


ขั้นตอนแรก เด็กๆได้รับแจกผีเสื้อหนอนมะนาวที่พี่ๆจับมาและทำให้ตายแล้วคนละตัว จากนั้นใช้เข็มที่ไม่ขึ้นสนิมภายหลังค่อยๆปักเข้าไปที่กลางหลัง ให้ทะลุท้องจนเหลือแค่ 1 ใน 3 


แล้วปักลงในแท่นเซ็ตแมลงซึ่งเป็นโฟมสีขาวบากให้เป็นตัว V ตลอดแนวยาว ต่อมาจัดให้ผีเสื้ออยู่ในท่าที่ต้องการโดยใช้เข็มเขี่ยขอบปีกให้ขยับไปมา แล้วเอาแผ่นพลาสติกใส(สีเหลืองๆ)ขึงทาบผีเสื้อ เอาเข็มหมุดตรีงพลาสติกใส จัดให้ขอบล่างกับปีกขนานกับลำตัว ฟังดูไม่ยากใช่มั้ยคะ แต่สำหรับเด็กๆแล้ว…ไม่ง่ายเลยค่ะ เพราะต้องมือเบามากๆ


แต่เด็กๆก็ตั้งใจทำกันมาก และพี่ๆทีมงานก็ช่วยเด็กๆกันอย่างเต็มที่



ผลงานสำเร็จจะเป็นแบบนี้ค่ะ



ขั้นตอนต่อมาเป็นการอบแมลง ซึ่งเราไม่ได้ทำค่ะ อาจารย์เพียงแต่พาเด็กๆไปดูตู้ที่ใช้อบแมลง ตู้นี้ใช้หลอดไฟแบบมีไส้ให้ความร้อน เราเอาแมลงที่เซ็ตไว้มาอบไว้ 1-2 วันให้แห้ง ดังนั้นคำถามเซ็งแซ่ที่เด็กๆถามว่าจะได้แมลงกลับบ้านไปมั้ย อิ อิ…ไม่ได้เอากลับนะจ๊ะ


เด็กๆถามต่อว่า รู้ได้ยังไงว่าแมลงแห้งหรือไม่แห้ง อาจารย์ตอบว่า ถ้าไม่แห้งเวลาเอาเข็มเขี่ยแล้วปีกจะขยับ พอแห้งแล้วก็ดึงเข็มหมุดออก แล้วเก็บใส่กล่องบุด้วยฟิวเจอร์บอร์ดหรือโฟม แล้วใส่ข้อมูลแผ่นเล็กๆที่มีชื่อผู้เก็บ สถานที่เก็บ และวันเดือนปี


อาจารย์ยังเล่าว่า ในกล่องเก็บผีเสื้อเราจะใส่ลูกเหม็นเอาไว้กันมดและแมลงอื่นมากิน ลูกเหม็นนั้นจะระเหิดเป็นก๊าซเข้าไปอยู่ในท่อหายใจของแมลงแล้วมันจะคืนตัวกลายเป็นของแข็งอุดท่อหายใจ


ระหว่างรอให้เด็กๆเซ็ตแมลงให้เสร็จกันครบทุกคน อาจารย์ให้พี่ทีมงานจัดโต๊ะตั้งกล้องจุลทรรศน์เพื่อให้เด็กๆเห็นภาพขยายของปีกผีเสื้อ ซึ่งดูแล้วเป็นเกล็ดเล็กๆเต็มไปหมด เด็กบางคนบอกว่าคล้ายหลังคาบ้าน


แล้วอาจารย์ก็พาเราเดินดูรอบๆ และคอยหยิบตัวอย่างแมลงมาอธิบายให้เด็กๆฟัง ทั้งแมลงขี้ช้างหรือแมลงขี้เบ้า เจ้าจักจั่น Cicada ที่ใช้ชีวิตอยู่ในดินตั้ง 8 เดือน เด็กๆก็คอยยิงคำถามใส่อาจารย์ตลอดเวลา จนอาจารย์ตอบแทบไม่ไหว มีการร้องเรียกพี่ๆเจ้าหน้าที่ที่ยืนอยู่รอบๆว่า “เฮ้ย! มาช่วยกันตอบหน่อย!”


มีอยู่ช่วงหนึ่งที่อาจารย์เรียกหาเอาหนังสือแมลงมาอวดเด็กๆ แต่เด็กๆพร้อมใจกันบอกว่า “ที่โรงเรียนมีแล้ว!” อาจารย์เลยเรียกหาเอาหนังสืออีกเล่ม คราวนี้สั่งให้หยิบหนังสือต่างประเทศ “ถ้าที่โรงเรียนยังมีอีกให้มันรู้ไป!” อาจารย์พูดสำทับเอาไว้ด้วย


แหะ.แหะ..ก็แน่ล่ะค่ะ ที่โรงเรียนไม่มีหรอก พอได้หนังสือมาอาจารย์ก็เล่าเรื่องตั๊กแตนกิ่งไม้พร้อมกับเปิดหนังสือให้ดู เด็กๆก็บ่นกันใหญ่ว่าอ่านไม่ออก อาจารย์ก็บอกว่า “แน่ล่ะ..ก็มันเป็นภาษาอังกฤษนี่!” 

ทันใดนั้น พี่แพมก็พูดขึ้นมาอย่างมั่นใจว่า “แล้วทำไมเราไม่แปลล่ะค่ะ” เรียกเสียงหัวเราะ พร้อมกับความเอ็นดูของอาจารย์และพี่ๆได้กองโต นี่ค่ะโฉมหน้าหนังสือเล่มหนาๆที่พี่แพมบอกว่าจะแปล


จากนั้นอาจารย์ก็พาเด็กๆไปดูเขาสัตว์ที่มีอยู่เต็มไปหมด เราได้เห็นเขาสมันที่สวยเหลือเกิน อาจารย์เล่าว่าเขาของสมันจะแตกกิ่งปีละ 2 กิ่ง แต่ตอนนี้สมันได้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว มันเคยอยู่ตรงนี้..ตรงที่เป็นกรุงเทพฯนี่ล่ะค่ะ แต่มันอาศัยอยู่ในทุ่งโล่งกว้าง เพราะเขาที่แตกแขนงทำให้อยู่ในป่าทึบไม่ได้ จึงเป็นจุดอ่อนทำให้ถูกล่าได้ง่าย 



ในระหว่างที่เดินดูอยู่นั้น..แม่ก็มองไปด้านข้างเห็นโต๊ะเก่าแก่อยู่โต๊ะหนึ่ง เก้าอี้ก็ยังดูโบราณเลย 


แต่ป้ายบนโต๊ะเนี่ยสิคะ “นพ.บุญส่ง เลขะกุล” โอว…ก็ท่านเป็นคนทำหนังสือคู่มือดูนกที่เด็กๆใช้กันอยู่เป็นประจำนี่เอง ท่านเสียไปแล้วเกือบ 20 ปีค่ะ 


แค่เห็นโต๊ะอย่างเดียวไม่พอค่ะ พี่เจ้าหน้าที่ยังหันไปเปิดลิ้นชักด้านหลังให้เห็นนกเหยี่ยวที่เป็นของ นพ.บุญส่ง ที่ใช้เป็น Model ในการทำหนังสือคู่มือนกเล่มแรก โอย…แม่จะเป็นลมด้วยความตื่นเต้น


เท่านั้นยังไม่พอค่ะ หันไปอีกด้าน เจอกับกองกล่องแมลงที่ด้านบนมีใบปะหน้าว่า “ตัวอย่างแมลงที่ อ.จารุจินต์ มอบให้” โอ…ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทางธรรมชาติวิทยาอีกท่าน เปรียบได้ว่าท่านเป็น สาราณุกรมมีชีวิต ก็หนังสือแมลงเล่มสีเหลืองเล็กๆที่เด็กๆใช้ก็ทำโดย อ.จารุจินต์นี่ล่ะค่ะ  ท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งนี้ด้วย..โดยเป็นการสืบสานแนวคิดของ นพ.บุญส่ง เลขะกุล เสียดายค่ะ…ที่ อ.จารุจนต์จากเราไปเร็วเกินไป (ถ้าใครไม่รู้จัก…กรุณาไปอ่านด่วน ที่เว็บสารคดี ด่วน! ค่ะ)


หลังจากเราได้ความรู้ ความสนุกกับการลงมือเซ็ตแมลง ได้ทำให้อ.ธัญญาถึงกับบ่น “รับมือเด็กๆยากจัง คุณครูอยู่ได้ยังไง” ก็ถึงเวลาที่พวกเราต้องลากลับด้วยเสียง “ขอบพระคุณค่า/ครับ” อันเซ็งแซ่



นอกจากความรู้ที่เด็กๆได้แล้วนั้น ที่สำคัญกว่านั้น วันนี้เด็กๆได้เรียนกับคนที่ “รัก” ในงานที่ทำ ได้เห็นความทุ่มเท…ก็ตัวอย่างแมลงในห้องนั้น กว่าจะได้มาแต่ละตัวจนได้จำนวนขนาดนั้น คงต้องใช้คำว่า Passion ด้วย  

แล้วงานที่ทำ ก็ไม่ได้ทำให้กับตัวเอง เป็นมรดกธรรมชาติ ให้กับพวกเด็กๆนี่ล่ะค่ะ เด็กที่จะโตมาดูแลโลกของเราในวันข้างหน้า 

การเรียนแค่ให้ได้ความรู้…ตอนนี้ก็หาเอาจากในเน็ตเต็มไปหมด  แต่จะให้ได้แรงบันดาลใจ..ไม่มีที่ไหนเปิดให้เรียน การเรียนรู้นอกสถานที่ ได้้พบกับคนที่มี Passion ในงานที่ทำ…จึงสำคัญมาก เพราะมันอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆได้


พอเดินลงไปที่ชั้น 1 พี่ๆเจ้าหน้าที่ก็พาเจ้างูเหลือมออกมาทักทายเด็กๆ โดยปล่อยให้คลานไปกับพื้นเลย


พอพี่ถามว่า ใครอยากให้งูพันคอบ้าง ธีธัชขออาสาเป็นคนแรกเชียว…ลูกชั้น ใจกล้าน่าดู


ขอปิดท้ายด้วยคำของ นพ.บุญส่ง เลขะกุลในรูปนี้ค่ะ


ข้อมูล :
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา คลอง 5 : http://www.nsm.or.th/nsm2009/nature/


หลังจากวันนี้ทั้งวันเด็กๆไปทัศนศึกษามา 2 ที่แล้ว กิจกรรมเรายังไม่หมดเท่านี้ค่ะ เพราะคุณยายของน้องบุ้งกี๋มารอเด็กๆเพื่อสอนทำกระทงที่โรงเรียนแล้วค่ะ รอตั้งแต่บ่าย 3 แต่กว่าเราจะกลับก็ตั้ง 4 โมง ถึงปุ๊บก็รีบมาลงมือทำ


แม่มองหาธีธัชไม่เจอในวงทำกระทง หันไปในห้องเรียน…หนูกำลังทำเวรอยู่นี่เอง


คุณยายเตรียมต้นกล้วยที่หั่นเป็นแว่นๆแล้ว และใบตอง เด็กๆนั่งตัดและพับใบตองกันค่ะ


กระทงของแสงจ้าค่ะ


วงทำกระทงของเราค่ะ


กราบขอบพระคุณคุณยายอารมณ์ของบุ้งกี๋มากๆเลยค่ะ ไม่เพียงแต่คุณยายมาสอนทำกระทง คุณยายยังเคยมาสอนเด็กๆทำข้าวต้มมัด สอนถักต้นกกทำเป็นที่รองของร้อน สอนเด็กๆทำสวนขนาดจิ๋ว

นี่ล่ะค่ะ สังคมของการเกื้อกูลกันของกลุ่มบ้านเรียนของเรา ใครมาช่วยสอนอะไรก็ได้..ก็ช่วยกันเต็มที่ คนที่ได้รับไปเต็มๆก็ลูกหลานของเรานี่ล่ะค่ะ 

ดูรูปที่เหลือได้ที่ http://mamaaor.multiply.com/photos/album/92/92#