หอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


19 พฤศจิกายน 2553

อาทิตย์นี้เด็กๆไปเรียนรู้กันไกลถึงรังสิต เราจึงไปทัศนศึกษากันทั้ง 2 ที่เพื่อให้คุ้มค่าการเดินทาง ดังนั้นช่วงเช้าเราจะไปกันที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วช่วงบ่ายไปที่ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ

พอไปถึงที่หอจดหมายเหตุฯ ก็พบกับตึกสีขาวใหญ่ๆ เด็กๆพากันร้อง…ว้าว! เพราะดูงามสง่าเหลือเกิน โดยในปี 2539 ซึ่งเป็นปีที่ในหลวงครองราชย์ครบ 50 ปี มีการจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรวบรวมเอกสาร จดหมายเหตุ เกี่ยวเนื่องในพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ มาจัดเก็บและอนุรักษ์ไว้ เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา


ที่นี่มีทั้งหมด 4 อาคาร แต่อาคาร 1-2 ไว้สำหรับเก็บเอกสารและค้นคว้า ดังนั้นพี่วิทยากรจะพาเราไปที่อาคาร 3-4 ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับในหลวงของเรา 


เราเริ่มกันที่อาคาร 3 ซึ่งจัดแสดงพระราชประวัติของในหลวง มีอยู่ทั้งหมด 3 ชั้น…อืม..ต้องทำเวลากันหน่อยแล้วค่ะเด็กๆ  ในช่วงต้นพี่ต่องซึ่งเป็นวิทยากรได้สอนถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า พระบรรมฉายาลักษณ์ซึ่งหมายถึงภาพเหมือนของในหลวงแบบเป็นภาพถ่าย แต่พระบรมสาทิสลักษณ์นั้นหมายถึงภาพเหมือนในหลวงที่เป็นภาพวาด


ในหลวงทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2489 ในแต่ละปีที่มีการครบรอบครั้งสำคัญก็จะมีชื่อพระราชพิธีที่ต่างกัน ได้แก่

2514 พระราชพิธีรัชดาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี
2531 พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 42 ปี เท่ากับ ร.5 (พระอัยยิกา) 
2539 พระราชพิธีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี


วิทยากรเล่ามาเรื่อยๆ ได้ยินเสียงเด็กๆรำพึงว่า “ยังไม่เกิดเลย” แต่พอเล่ามาถึงในปี 2549 เด็กๆตะโกนกันออกมาว่า “เกิดแล้ว!!” ก็เด็กป.1 อายุ 7 ขวบ จะเกิดเร็วสุดก็ปี 2546 นี่เองค่ะ 

เจอคำราชาศัพท์ยาวๆอย่างนี้ เด็กๆจดกันยิกเลยค่ะ จดกันไม่ค่อยทัน จนต้องขอให้พี่วิทยากรเดินนำช้าๆหน่อย


จากนั้นเราก็เดินดูนิทรรศการพระราชประวัติในหลวง


สิ่งที่แม่อ้อประทับใจก็คือ พระนิพนธ์ของพระพี่นาง ที่เล่าถึงการเลี้ยงดูของสมเด็จย่า ที่ให้ความสำคัญในเรื่องระเบียบวินัย


และท่านยังทรงเล็งเห็นว่า “การเล่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก” เล่นแบบกลางแจ้งได้สูดอากาศบริสุทธิ์นะคะ ไม่ใช่อยู่ตามห้าง เห็นเด็กๆสมัยนี้เรียนพิเศษกันตอนเย็น และเสาร์อาทิตย์แล้ว…ต้องบอกให้คุณพ่อคุณแม่มาอ่านพระนิพนธ์ของพระพี่นางกันค่ะ


ส่วนห้องนี้เป็นห้องเก็บพระที่นั่งจำลองที่ใช้ในพระราชพิธีต่างๆ


เด็กๆพยายามวาดรูปกันค่ะ



พอเราเดินมาถึงที่พระบรมฉายาลักษณ์นี้ พี่วิทยากรถามถึงชื่อของแต่ละพระองค์ เด็กๆแข่งกันตอบใหญ่เลยค่ะ 


จากนั้นเราก็ไปกันที่อาคาร 4 เป็นส่วนแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและโครงการพระราชดำริ เราเริ่มกันที่โครงการส่วนพระองค์ในวังจิตรลดา ในรูปนี้เด็กๆกำลังมุงดูแผนที่ในพระราชวังจิตรลดาค่ะ เด็กๆยังอวดว่าได้ไปดูมาแล้วเมื่อตอนอยู่อนุบาล และยังจำวัวตัวใหญ่ กับนมอัดเม็ดได้ 


ห้องต่อไปเป็นโครงการฝนหลวง ซึ่งมีเครื่องบินแขวนไว้ด้านบน และใบพัดจะหมุนเมื่อเด็กๆเดินเข้ามาเพราะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับอยู่


โครงการฝนหลวงนี้ ในหลวงทรงพระราชดำริตั้งแต่ปี 2498 โปรดเกล้าฯให้ มรว.เทพฤทธิ์ เทวกุลไปศึกษาวิจัย จนกระทั่งสามารถแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในพื้นที จ.พิจิตรและนครสวรรค์ได้เป็นครั้งแรกในปี 2514 

ในรูปนี้ วิทยากรกำลังอธิบาย ตำราฝนหลวงพระราชทาน 
 


ส่วนถัดมาเป็นตัวอย่างของกังหันน้ำชัยพัฒนา


ด้านข้างนั้น มีภาพร่างฝีพระหัตถ์ต้นแบบจัดแสดงอยู่ 


จากนั้นก็มีโครงการพระราชดำริมากมาย เช่น โครงการแก้มลิง



โครงการบำบัดน้ำเสีย


ต่อมาเราได้ไปดูภาพวาดฝีพระหัตถ์ของท่าน


แม่อ้อยังได้มีบุญเห็น สมุดเซ็นเยี่ยมเล่มแรกของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่มีทั้งพระนามาภิไธยของ สมเด็จย่า พระพี่นาง พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และในหลวงของเรา 


รูปนี้น้องมดตะนอยกำลังบันทึกเกี่ยวกับโครงการหน่วยแพทย์หลวงเคลื่อนที่ 



ส่วนตรงนี้จัดแสดงอุปกรณ์ที่ใช้ในหน่วยแพทย์หลวง แม่อ้อถามเด็กๆว่าถุงปรุงทิพย์สีน้ำเงินนั่นคืออะไร เด็กๆอ่านแล้วก็ตอบว่าเกลือ พอถามต่อว่าใช้ทำอะไร เด็กๆแย่งกันตอบ มีธีธัชตอบว่า “กันโรคคอใหญ่” 


มีใครรู้มั้ยคะว่า เมื่อปี 2510 ที่ปืนเอ็ม-16 เพิ่งเข้ามาถึงเมืองไทย ในหลวงได้ทรงศึกษาอย่างละเอียด และได้พระราชทานคำแนะนำแก่นาวิกโยธินที่ต้องใช้ปืนนี้ในการยกพลขึ้นบกในเรื่องน้ำทะเลและทรายที่อาจทำความเสียหายได้


ต่อมาเด็กๆได้เข้าแถวฟังเพลง เราสู้ ซึ่งเป็นเพลงที่นายสมภพ จันทรประภา ได้อัญเชิญพระราชดำรัสในหลวงมาประพันธ์เป็นกลอนสี่สุภาพทูลเกล้าฯถวาย  จากนั้นในหลวงทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเองโดยทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีเป็นบรรทัด 5 เส้น แล้วพระราชทานเป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน และอาสาสมัคร



ตรงนี้เด็กๆได้ดีวีดีโอ พร้อมแผนที่แสดงถึงในหลวงเสด็จฯไปเพื่อเจริญพระราชไมตรี



ในระหว่างที่เดินกันอยู่นั้นพี่วิทยากรได้คุยกับครูสุ และแม่อ้อ พี่เค้าชื่นชมเด็กๆปฐมธรรมค่ะ ว่าเด็กๆสนใจฟัง มีสมาธิ เพราะปกติแล้วเด็กมัธยมเดินชมนิทรรศการได้แค่ อาคารเดียวก็จะบ่นกันแล้ว แต่เด็กๆของเราไม่บ่น และยังคอยตั้งคำถามตลอดเวลา หรือเวลาพี่ๆถามก็แย่งกันตอบ แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือล้นและใฝ่รู้


และพี่ยังชมถึงความตั้งใจในการบันทึกของเด็กๆอีกด้วยค่ะ 


มาที่นี่แล้ว…ไม่รู้เป็นยังไง เดินน้ำตาคลอเบ้าตลอดงาน (ไม่รู้วิทยากรทำไงไม่ให้น้ำตาไหลคะเนี่ย) พวกเราโชคดีจริงๆที่ได้เกิดมาบนแผ่นดินของท่าน แม่หลินยังบอกเลยค่ะ ว่าท่านเป็นพ่อของแผ่นดินไทยจริงๆ ดูแลเหมือนพ่อดูแลลูก ทั้งทางด้านการกินอยู่ อนามัย ฝนแล้ง ข้าวไม่มีกิน







ตรงทางออก ส่วนสุดสุดท้ายคือ พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ที่ติดเอาไว้ในทุกบ้าน 


อ่านไปได้ไม่กี่อันก็ต้องปาดน้ำตาด้วยความตื้นตันไปหนึ่งที อันที่โดนใจแม่อ้อที่สุด ก็คือ  คุณทองย้อย รักษาแก้ว จ.อ่างทอง ที่บอกว่า “ทุกวันนี้สอนลูกให้เป็นคนดีเพื่อพระองค์ ให้ภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยของพระองค์”


พอถึงเวลาเที่ยง เราก็ขอบคุณพี่วิทยากรสำหรับความรู้ ความประทับใจในครั้งนี้ แล้วเราก็แงะกล่องข้าวมานั่งทานกันในห้องอาหารชั้นล่างที่พี่เจ้าหน้าที่ใจดีแนะนำให้ ตั้งแต่ทัศนศึกษากันมา แม่อ้อต้องให้รางวัลห้องอาหารยอดเยี่ยมแก่ที่นี่แน่นอน


หลังจากทานข้าวเที่ยงเสร็จแล้ว เราไปกันต่อที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา..ซึ่งเจ๋งสุดๆไปเลย รออ่านในบล็อกถัดไปนะคะ

เว็บไซต์ : http://www.narama9.go.th/home.jsp

ดูรูปที่เหลืออีก 81 รูปได้ที่ http://mamaaor.multiply.com/photos/album/91/91