20 สิงหาคม 2553
วันนี้เราไปเรียนรู้ประวัติชุมชนกันที่คลองมหาสวัสดิ์ โดยคุณลุงอู๋ผู้ใหญ่ใจดีช่วยมาเป็นวิทยากรให้ คุณลุงดีใจมากที่ได้เจอเด็กๆอีกครั้ง หลังจากที่เคยพบกันเมื่อเทอมที่แล้ว (ไปอ่านได้ที่นี่ค่ะ)
คุณลุงยังยิ้มแย้มแจ่มใสและดูแข็งแรงเหมือนเดิม พอเจอกันปุ๊บ คุณลุงก็ชวนลงเรือ พาไปนั่งคุยกันที่ศาลากลางนาบัว รูปนี้ถ่ายตอนคุณลุงขับเรือให้เด็กๆนั่ง ดูคุณลุงมีความสุขมากค่ะ
ที่ศาลากลางนาบัว พวกเรานั่งล้อมวงฟังคุณอู๋เล่าที่มาของคำว่า “ศาลาธรรมสพน์” เมื่อตอนสมัย ร.4 ท่านทรงให้ขุดคลอง และให้มีการสร้างศาลาริมคลองเป็นระยะ หนึ่งในนั้นคือ ศาลาธรรมสพน์ ซึ่งเดิมนั้นไม่มีเมรุไว้เผาศพอย่างปัจจุบัน จึงเอาศพมาตั้งแล้วเผากันที่ข้างศาลากัน จึงเรียกศาลานี้ว่า ศาลาทำศพ ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อให้เป็นมงคลว่า ศาลาธรรมสพน์
อีกศาลาหนึ่ง ก็คือ ศาลายา ซึ่งเดิมทีเป็นศาลาที่มีแผ่นไม้บันทึกตำรายาโบราณเอาไว้ ใครๆก็พากันมาจดไปใช้ ทำให้เรียกกันว่า ศาลายา
ลุงอู๋ยังเล่าวิธีการทำนาบัว โดยนาบัวรอบศาลานี้เพิ่งผ่าน “การย่ำบัว” คือ การเอารถไถไปย่ำให้บัวตายเป็นบางส่วนเพื่อลดปริมาณบัว แล้วเจ้าบัวที่เหลือก็จะค่อยๆโตขึ้นออกดอกให้เก็บไปขาย โดยจะย่ำบัวกันทุก 3 เดือนเมื่อบัวมีลักษณะโทรมแล้ว
ดอกบัวที่ปลูกกันเพื่อการค้ามี 2 ตระกูล คือ บัวหลวงซึ่งใช้ไหว้พระ และบัวสายซึ่งได้แก่ บัวผัน และบัวเผื่อน ซึ่งเราใช้กินสายบัว บัวหลวงนั้นจะโตโดยการไหลไปตามพื้นดินแล้วก็จะแตกกิ่งก้านออกไป “ไหลบัว” ที่เรากินกัน(ของโปรดของธีธัช) เป็นยอดอ่อนของต้นบัวที่ไหลไปตามดินนั่นล่ะค่ะ ส่วนบัวผันและบัวเผื่อนนั้นงอกจากเมล็ด
บัวหลวงที่ปลูกขายก็แบ่งเป็น บัวฉัตรขาว มีชื่อเพราะๆว่า “สัตตบุษย์” และบัวฉัตรสีชมพูซึ่งมีชื่อเพราะๆว่า “สัตตตบงกช”
ปุ๋ยที่ใช้มี 2 แบบ คือ ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยชีวภาพ ลุงอู๋เล่าว่าปุ๋ยเคมีนั้นจะเห็นผลว่าดอกบัวงามได้เร็ว แต่พอหยุดปุ๋ยปั๊บดอกบัวก็สลดทันที แต่ถ้าเป็นปุ๋ยคอกนั้นต้องรอนานกว่าที่ดอกบัวจะงาม แต่ใส่ทีหนึ่งก็จะอยู่ได้นานกว่า และไม่มีสารตกค้างแบบปุ๋ยเคมีด้วย
ระหว่างที่คุณลุงเล่าไป เด็กๆก็ขมักเขม้นจดกันใหญ่ นี่เป็นผลงานจดของน้องมดตะนอยค่ะ
หลังจากได้ความรู้กันเต็มอิ่มแล้ว คุณลุงก็ชวนไปเที่ยวนาบัวกันที่บ้านคุณลุง ระหว่างเดินออกจากศาลานาบัว ครูสุก็ชี้ชวนให้เด็กๆดูน้ำที่กลิ้งบนใบบัว แล้วเราก็เลยได้คุยกันถึงเรื่อง สุภาษิตไทยที่เกี่ยวกับบัว เช่น น้ำกลิ้งบนใบบัว บัวสี่เหล่า ตัดบัวไม่ให้เหลือใย บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น เห็นกงจักรเป็นดอกบัว พอถามว่าทำไมน้ำถึงกลิ้งบนใบบัวได้ เด็กๆก็ไม่ทำให้ อ.วัชระเสียชื่อ(อาจารย์สอนธรรมชาติ) ตอบกันอย่างพร้อมเพรียงว่า เพราะใบบัวมีขนเล็กๆเต็มไปหมด
พอไปถึงที่นาบัวของคุณลุงอู๋ คุณลุงก็คว้าไม้ยาวๆแล้วก็ชวนเด็กๆเดินไปตามคันนาบัว ถึงตรงที่มีฝักบัวงามๆ คุณลุงก็เอาไม้ยาวๆสอยเก็บมาให้เด็กๆกินกัน
กินเม็ดบัวสดๆ หวานๆ กรอบๆ ข้างนาบัวอย่างนี้…ช่างเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้อีกแล้ว..เด็กๆเอ๋ย เด็กบางคนไม่เคยกินเม็ดบัวมาก่อน ก็เคี้ยวไปทั้งเปลือกเขียวๆเลย แม่อ้อห้ามแทบไม่ทัน ต้องสอนให้แกะเปลือกสีเขียวออกก่อน
นี่ค่ะ…ธีธัชที่เคยกินเม็ดบัวมาก่อนแล้ว ก็ยังตื่นเต้นรีบเดินมาบอกว่า “หม่าม้า..มันหวานจริงๆนะ”
จากนั้นเราก็นั่งเรือที่คุณลุงอู๋พาย..กลับไปที่ศาลานาบัวกันอีกครั้ง เพื่อกินข้าวเที่ยง โชคดีจริงๆที่เราไปถึงศาลาปุ๊บ ฝนก็ตกลงมาอย่างหนักทันที เด็กๆเลยได้มีประสบการณ์นั่งกินข้าวท่ามกลางสายฝน
ฝนตกหนัก และลมแรงค่ะ ดีนะที่ศาลาใหญ่มาก เราก็เลยย้ายวงข้าวไปเรื่อยๆ ทุกสิบนาที แต่ไม่เป็นปัญหาสำหรับเด็กๆค่ะ ยังสนุกกับกิจกรรมแลกกับข้าวอย่างเช่นเคย
หลังจากทานข้าวเสร็จ เด็กๆก็วิ่งเล่นในศาลากันอย่างห้ามไม่หยุด เป็นที่น่าหวาดเสียวของแม่อ้อ เพราะถึงศาลาใหญ่กว้างซึ่งเด็กๆไม่ตกน้ำกัน แต่พื้นก็เปียก..น่ากลัวจะลื่นล้ม แต่เด็กลิงระดับนี้แล้ว เลยจบลงตรงที่ไม่มีเสียงร้องไห้ค่ะ มีแต่เสียงหัวเราะ
แล้ววันนี้เราก็ลาจากคลองมหาสวัสดิ์ไปกันตอนบ่ายอ่อนๆ เพื่อกลับไปสรุปงานที่โรงเรียน ขอจบด้วยภาพที่เด็กๆเดินเท้าเปล่าชี้ชวนดูดอกบัวกันบนทางเดินของศาลาค่ะ
ดูรูปที่ไม่ได้ใส่ในบล็อกนี้ได้ที่ http://mamaaor.multiply.com/photos/album/81/81