3 มิถุนายน 2554
วันนี้เด็กๆไปทัศนศึกษาใกล้ๆค่ะ ที่วิทยาลัยราชสุด ม.มหิดล ศาลายา ไปกัน 10 นาทีก็ถึงแล้ว ที่นี่บรรยากาศร่มรื่น ่และสงบมากค่ะ เมื่อเราไปถึงเด็กได้เข้าไปในห้องประชุมเพื่อดูวีดีทัศน์เพื่อรู้จักวิทยาลัยราชสุดาให้มากขึ้น
วิทยาลัยราชสุดา ตั้งขึ้นจากสมเด็จพระเทพฯพระราชทานแนวพระราชดำริแก่ ม.มหิดลเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนในการพัฒนาความพร้อมทางการศึกษา โอกาสในการประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตของคนพิการ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งวิทยาลัยราชสุดาในปี พ.ศ. 2536 มีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหิดล
พร้อมกันนี้สมเด็จพระเทพฯ ได้โปรดเกล้าฯ จัดตั้งมูลนิธิราชสุดาขึ้นโดยทรงเป็นสมเด็จองค์ประธาน เพื่อให้การสนับสนุนในกิจกรรมต่างๆของวิทยาลัยราชสุดา สำหรับชื่อวิทยาลัยนั้น สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระราชทานสร้อยพระนาม “ราชสุดา” เป็นชื่อวิทยาลัยและมูลนิธิ
ที่นี่มีทั้งหลักสูตรปริญญาตรีศิลปศาสตร์ สาขาวิชาหูหนวก สาขาล่ามภาษามือ และปริญาโทสาขาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ การจัดการเรียนการสอนและสภาพแวดล้อมที่นี่จะอำนวจความสะดวกกับผู้พิการแทบทุกอย่าง ทั้งลิฟท์และทางลาดสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ส่วนผู้พิการทางสายตาก็จะมีการปูกระเบื้อขรุขระตรงทางแยก และหน้าห้องน้ำ
มีราวเหล็กตามทางเดิน ซึ่งจะมีอักษรเบรลล์กำกับไว้ด้วยค่ะ
ถ้าใครสงสัยว่าแล้วคนพิการทางหูจะเรียนอย่างไร ที่นี่จะมีล่ามภาษามืออยู่ในชั้นเรียนด้วย และถ้ามองแต่ล่ามและทำให้ไม่ได้ก้มลงจด ก็จะมี Note taker ที่จะช่วยจดบรรยายให้ด้วย ระหว่างการสอนนี้ก็จะมีการบันทึกวีดีทัศน์ซึ่งจะบันทึกทั้งล่ามและผู้บรรยายเพื่อให้สามารถไปดูทีหลังได้
สำหรับผูพิการทางสายตา ก็จะมีบริการผลิตเอกสารอักษรเบลล์ มีโปรแกรมอ่านจอภาพ และการขยายตัวอักษรสำหรับผู้มีสายตาเลือนราง
หลังจากดูวีดีทัศน์จบ เราก็สวัสดี อ.สุพิณ นายอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาหูหนวกศึกษาซึ่งมาเป็นวิทยากรให้เราในวันนี้
(พี่คนสวยในชุดน้ำเงินเป็นล่ามภาษามือค่ะ)
แล้วเด็กๆก็เริ่มตั้งคำถามมากมาย แม่อ้อจดคำถามมาได้ไม่มากค่ะ บางทีก็ไม่ทันเห็นว่าใครถาม
ชุณฬี่ : หูหนวกเกิดจากอะไรคะ?
วิทยากร : สามารถเกิดได้ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรก หากแม่ติดเชื้อหัดเยอรมัน การใช้ยาปฏิชีวนะที่อันตราย มีการกระแทก ก็ทำให้เกิดการหูหนวกได้
เด็กๆ : รู้ได้ยังไงว่าใช้ภาษามือแล้วแปลว่าอะไร ?
วิทยากร : ภาษามือเกิดจากการตกลงของกลุ่มคนว่าจะเรียกของสิ่งนั้นว่าอะไร
เม็กก้า : ใครเป็นคนคิดภาษามือคนแรก ?
วิทยากร : เกิดเมื่อประมาณ 400 ปีที่แล้ว ในตระกูลขุนนางสเปน มีลูกหูหนวก และมีกฏว่าคนที่รับมรดกจะต้องพูดได้ ขุนนางสเปนจึงหาครูมาสอนภาษามือเพื่อสื่อสารแทนภาษาพูด
ทิม : ตาบอดเกิดจากอะไรครับ?
วิทยากร : เกิดจากกรรมพันธุ์ อุบัติเหตุ หยอดยาผิด ของดีใส่ตา เด็กๆต้องระวังไม่ให้มีอะไรเข้าตา
แพม : คนตาบอดอ่านหนังสือยังไงคะ
วิทยากร : ใช้อักษรเบลล์ เดี๋ยวให้ลงไปห้องข้างล่างเพื่อทดลองใช้และเรียนรู้เพิ่ม
จากนั้น อ.กานต์ อรรถยุกติ ซึ่งอาจารย์นั้นหูหนวกจึงมาสื่อสารกับเด็กๆด้วยภาษามือ ผ่านล่ามภาษามือ เราต้อนรับอาจารย์ด้วยการหมุนมือในอากาศคล้ายๆกับที่เชียร์ลีดเดอร์ทำ อาจารย์ให้เหตุผลว่า ถ้าเราปรบมือต้อนรับ อาจารย์คงไม่ได้ยิน เด็กๆจึงต้องปรบมือด้วยภาษามือ
อาจารย์กานต์บอกว่า คนหูหนวกก็เหมือนกับคนปกติทั่วไป ต่างกันก็แค่ตรงใช้ภาษามือในการพูด ใช้สายตาในการมอง แล้วอาจารย์ก็ถามว่าเวลาเห็นคนหูหนวกใช้ภาษามือแล้วรู้สึกอย่างไร เด็กๆตอบว่า อยากจะช่วย
พอถึงตรงนี้พี่แแพม ป.4 ของเราก็ถามปัญหาน่าสนใจขึ้นมาว่า ภาษามือประเทศไทยเหมือนกับประเทศอื่นไหม อ.กานต์ตอบว่า ภาษามือต่างกันในแต่ละชาติแต่ละภาษา เพราะภาษามือโดยส่วนใหญ่เป็นภาษาธรรมชาติ เช่น คำว่ากินข้าว ของไทยก็ทำมือจกแล้วก็เข้าปาก แตชาติอื่นทีวัฒนธรรมการกินเป็นแบบอื่นก็ทำท่าแบบอื่น แต่ภาษามือที่แทนตัวอักษรไทยนั้น ภาษามือแบบไทยจะพยายามล้อไปกับตัวอักษรของอังกฤษ เช่น ตัว ล ก็จะทำท่าเหมือนกับตัว L
พี่แพมยังถามคำถามที่น่าสนใจขึ้นไปอีกว่า คนหูหนวกใช้โทรศัพท์ยังไง? อ.กานต์ตอบคำถามด้วยการควักโทรศัพท์ออกมาทำท่าให้ดู คำตอบก็คือ ใช้การพิมพ์ข้อความ หรือถ่ายเป็นวีดีโอภาษามือแล้วส่งไปให้ผู้รับก็ได้
อีกคำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าคนหูหนวกและตาบอดด้วยจะสื่อสารอย่างไร? คำถามนี้ตอบโดยอ.สุขสิริ ซึ่งอาจารย์ทำให้ดูว่าต้องใช้ภาษามือแบบสัมผัส คือต้องเอามือของผู้หูหนวกและตาบอดมาจับมือของคนที่กำลังทำภาษามือ
หลังจากไขข้อข้องใจไปได้มากแล้ว ต่อมาเราก็เดินลงมาดูหน่วยบริการสำหรับคนตาบอดและสายตาเลือนราง วิทยากรของเราคือ พี่เก๋ ซึ่งพี่เก๋นั้นมีสายตาเลือนราง สามารถมองเห็นได้บ้าง พี่เก๋แนะนำให้เด็กๆรู้จักอักษรเบลล์ซึ่งประกอบไปด้วยจุด 6 จุด แต่ละจุดที่นูนต่ำต่างกันสามารถแทนอักษรตัวต่างๆ และเด็กๆก็ได้ลองพิมพ์อักษรเบลล์
ต่อมาเด็กๆได้เข้าไปลองเล่นในมุมฝึกประสาทสัมผัส ซึ่งมีทั้งแบบเรียนพยัญชนะไทยในแบบอักษรเบรลล์ และของเล่นจำลองเพื่อให้ทราบรูปทรงผ่านการสัมผัส
เด็กๆได้ลองปิดตาและใช้ประสาทสัมผัสหยอดบล็อคไม้ลงช่อง
พี่เก๋ยังอวดนาฬิกาคนตาบอด ซึ่งพิเศษกว่านาฬิกาปกติตรงสามารถเปิดหน้าปัดออกมาเพื่อสัมผัสเข็มนาฬิกาได้
เด็กๆยังได้เรียนรู้การใช้ไม้เท้าคนตาบอด และรู้วิธีที่จะช่วยนำทางให้กับคนตาบอด โดยห้ามกระชาก ไม่จูงมือ แต่ยื่นข้อศอกให้คนตาบอดแตะเท่านั้น
ต่อมาเราได้ไปดูเยี่ยมชมงานปั้นของผู้พิการทางหูหนวก งามๆทั้งนั้นเลยค่ะ
พี่วิทยากรบรรยายถึงขั้นตอนในการปั้น เสียดายที่วันนี้ไม่มีการเรียนการสอนก็เลยไม่ได้ดูพี่ๆทำงานกัน
แต่เด็กๆก็ได้บันทึกภาพรูปทรงงานปั้นของพี่ๆกันอย่างสนใจค่ะ
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่วิทยาลัยราชสุดาที่ช่วยเปิดโลกกว้างของเด็กๆค่ะ
ดูรูปที่เหลือได้ที่ http://mamaaor.multiply.com/photos/album/95/95
ที่มาข้อมูล : http://www.rs.mahidol.ac.th