ทุกวันศุกร์เด็กๆจะได้ออกไปทัศนศึกษานอกห้องเรียน ในปีที่ผ่านมาเราได้ไปทัศนศึกษามากถึง 20 แห่ง เพราะเราเชื่อว่า การได้ไปสัมผัสของจริง มีประสบการณ์ตรง ได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ นั้นสามารถเป็นแรงบันดาลใจ เป็นการเปิดโลกกว้าง กระตุ้นความอยากรู้ของเด็กๆ และนอกจากความรู้ที่ได้จากทัศนศึกษา เด็กๆจะถูกฝึกทักษะ การสังเกต ตั้งคำถาม บันทึก และการสรุปความรู้ที่ได้มาเป็นองค์ความรู้ของตัวเอง เพราะนั่นเป็นทักษะที่จะต้องใช้ในชีวิตจริง
สถานที่ที่เราจะไปนั้น คุณครูจะเลือกให้สัมพันธ์กับสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ เช่น เรียนเรื่องร่างกาย เราก็ไปกันที่พิพิธภัณฑ์กายวิภาคคองดอน รพ.ศิริราช ไปเห็นตับไตไส้พุงกันจริงๆ หรือเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยก็ไปกันที่พระราชวังบางปะอินและอยุธยา ได้ไปยืนเล่าเรื่องชัยชนะของพระนเรศวรกันที่ วัดใหญ่ชัยวัฒนาซึ่งสร้างขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะที่มีต่อพระมหาอุปราชา
คำชมจากวิทยากร
ทุกครั้งที่เราไปทัศนศึกษา เด็กๆต้องมีสมุดกันคนละเล่ม พอวิทยากรเล่าเรื่องให้ฟัง เด็กๆก็จะจดกันยิกๆ ถ้าสงสัยอะไรก็จะยิงคำถามใส่วิทยากรอย่างไม่ยั้ง
เมื่อครั้งที่เราไปหอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติฯ รังสิต วิทยากรเอ่ยว่า “เพิ่งเคยจะเห็นเด็กเล็กเท่านี้เดินดูนิทรรศการทั้ง 2 ตึกโดยไม่บ่น มีการตั้งคำถาม สนใจฟัง ตั้งใจจดและมีสมาธิมาก ที่ผ่านมาขนาดนักเรียนโตๆเดินดูแค่ตึกเดียวก็บ่นแล้ว”
พี่เป้ซึ่งเป็นวิทยากรที่พิพิธภัณฑ์มด ก็ชมเด็กๆว่า “สุภาพเรียนร้อย ตั้งใจเรียนรู้ สนใจถามและตั้งใจตอบ มี IQ และ EQ เยี่ยม”
เบื้องหลังทัศนศึกษา
การไปทัศนศึกษาทุกครั้งจะมีคุณแม่ใจดีที่สละเวลาอาสามาขับรถพาเด็กๆไปทัศนศึกษากันเป็นขบวน ขอบคุณแม่มุก แม่หงส์ และแม่อ้อค่ะ
หมายเหตุ ภาพทัศนศึกษาของเด็กๆบางส่วนมาจากเว็บ multiply.com ที่ปิดตัวลงไปแล้ว