เมืองโบราณ 9/3/55

เมืองโบราณ (9/3/2555)

พาเด็กๆไปทัศนศึกษาที่เมืองโบราณค่ะ แม่อ้อไม่เคยไปมาก่อนเลยค่ะ เคยคิดว่าคงจะได้เห็นแต่รูปจำลองเล็กๆ แต่นึกไม่ถึงว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างจริงที่เพียงแต่ย่อส่วนลงมา มีสถานที่สำคัญในแต่ละภาคครบเลยค่ะ เมืองโบราณเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2506 โดยคุณเล็กและคุณประไพ วิริยะพันธุ์ นักธุรกิจเจ้าของบริษัทวิริยะประกันภัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 มีความมุ่งหวังเปิดโอกาสให้คนเข้าใจและชื่นชมวัฒนธรรมไทย เพื่อเกิดความรักและหวงแหนพยายามรักษาไว้ให้ลูกหลาน โดยการนำเสนอสิ่งสำคัญในวัฒนธรรมไทยในรูปแบบที่ง่ายในการเข้าใจ จึงเกิดพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเพื่อการศึกษาขึ้น 

วันนี้เราได้นั่งรถที่ทางเมืองโบราณจัดใว้ หน้าตาอย่างนี้ค่ะ แค่นี้เด็กๆก็ตื่นเต้นกันแล้วล่ะค่ะ


พอดีเราไปถึงก่อนเวลานัดกับมัคคุเทศน์ เราเลยไปเดินกันที่ตลาดโบราณกันก่อนค่ะ ตลาดโบราณ เป็นบรรยากาศของชุมชนเมืองในอดีต มีทั้งบ่อน้ำ ร้านตัดผม ร้านขายสังฆภัณฑ์


ร้านขายของเก่า 


ที่นี่แม่อ้อได้อวดโทรทัศน์สมัยแม่อ้อเด็กๆ ที่ไม่มี้รีโมทให้เด็กๆดูด้วย!! เด็กๆสงสัยกันใหญ่ว่าเปลี่ยนช่องยังไง ก็หมุนเจ้าลูกบิดวงกลมไงคะ เฮ้อ..ทำให้นึกถึงตอนไปมิวเซียมสยามที่เด็กๆพากันจิ้มตัวเลขบนโทรศัพท์โบราณกันใหญ่ แม่อ้อต้องเข้าไปสอนว่า เค้าใช้นิ้วหมุนแบบนี้นะคะลูก!


แม่อ้อรู้แล้วค่ะ ทำไมสมัยนี้เราถึงเรียกว่า โรงหนัง เพราะสมัยก่อนเค้าดูมหรสพกันในนี้ค่ะ โรงหนังใหญ่!! เค้าใช้หนังที่ฉลุเป็นตัวละครมาเชิดเป็นเรื่องราวไงคะ


พอเดินทะลุตลาดโบราณออกไปเราก็พบกับ ศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี หรือที่เรียกกันว่า ตำหนักพระเจ้าเสือ ทางเมืองโบราณสร้างให้เล็กกว่าของจริงเล็กน้อย ข้างในจัดแสดงศิลปะวัตถุต่างๆ มีพระพุทธรูปเยอะเลยค่ะ


เราได้มีโอกาสเห็นพี่ๆกำลังทาสีองค์พระอยู่ด้วยค่ะ


ในนั้นยังมีงานไม้แกะสลักพุทธประวัติ ใช้เวลาแกะโดยช่างคนเดียวถึง 10 ปีเชียวค่ะ ละเอียดปราณีต แสดงให้เห็นความพยายามอย่างสูงเลยค่ะ


จากนั้นเราก็ได้มาพบกับพี่มัคคุเทศน์ของเรา ชื่อว่า พี่มิน พี่มินเริ่มต้นด้วยการพาเราไปที่ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งองค์นี้เป็นท้องพระโรงว่าราชการที่ประทับ และที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญๆในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๓๓๒ เป็นปราสาททรงจตุรมุข


พี่มินพาเราเข้าไปด้านใน แล้วพี่มินก็เริ่่มเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้เด็กๆฟังกัน ว่าหลังสมัยสุโขทัย ก็เป็นอยุธยาซึ่งยาวนานถึง 417 ปี มีกษัตริย์ถึง 33 พระองค์ และมีทั้งหมด 5 ราชวงศ์ ได้แก่ อู่ทอง สุพรรณภูมิ สุโขทัย ปราสาททอง และบ้านพลูหลวง มีศึกทั้งหมด 24 ครั้งกับหงสาวดี และเสียกรุง 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2112 โดยการเสียกรุงครั้งแรกนี้มีการจับสมเด็จพระนเรศวรไปเป็นองค์ประกัน แต่ยังไม่มีการเผาบ้านเผาเมือง การเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 นี่สิ ที่มีการเผาเมืองอยุธยาจนล่มสลาย


ระหว่างที่เล่านั้น เด็กๆฟังกันเพลิน เริ่่มเลื้อยลงไปนอนพังพาบราวกับฟังนิทานอยู่ 


แม่อ้อก็ยังฟังเพลินจนจดแทบไม่ทัน เลยต้องกลับพึ่ง Google ได้ข้อมูลเติมเต็มดังนี้ค่ะ
“ในช่วงที่พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น พระยาวชิรปราการ (ตำแหน่งสุดท้าย ของพระยาตาก) เจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งถูกเรียกตัวเข้ามาช่วยรักษากรุง เห็นว่าจะรักษากรุงไว้ไม่ได้ จึงรวบรวมผู้คนได้ประมาณ 500 คนตีฝ่าแนวรบของทหารพม่าออกไปทางหัวเมืองชายทะเลตะวันออก 

หลังจากนั้นจึงเดินทางไปยังจันทบุรี แต่ได้รับการต่อต้าน พระเจ้าตากสินจึงทรงแสดงความสามารถใช้กลวิธีปลุกใจทหาร และสร้างแรงบันดาลใจให้ทหารทุบหม้อข้าวหม้อแกงก่อนเข้าตี หวังจะไปกินอาหารมื้อต่อไปในเมือง ซึ่งได้ผลเพราะทหารเกิดกำลังใจที่จะต้องตีเมืองจันทบุรีให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีอาหารกิน การตีเมืองจันทบุรีจึงสำเร็จ และพระเจ้าตากสินจึงใช้เมืองจันทบุรีเป็นศูนย์กลางในการกู้เอกราช”


พอมาในสมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ย้ายราชธานีจากธนบุรี มายังกรุงเทพมหานครเพราะเห็นว่าเมืองธนบุรีนั้นเป็นเมืองอกแตก ศึกครั้งใหญ่ในสมัยนั้นคือ สงคราม 9 ทัพที่พระเจ้าปดุงได้ยกทัพมาถึง 9 ทัพ รวมกำลังพลมากถึง 144,000 นาย โดยแบ่งการเข้าโจมตีกรุงรัตนโกสินทร์ออกเป็น 5 ทิศทาง ทางไทยนั้นมีกำลังพลเพียง 70,000 ด้วยกลศึกที่แยบยละ และการที่พม่ายกทัพมาหลายทางไม่สามารถมาถึงกรุงเทพฯพร้อมกันได้ บวกกับความยากลำบากในการหาเสบียง ทำให้เรามีชัยชนะเหนือพม่าได้ และนี่ก็เป็นสงครามครั้งสุดท้ายก่อนที่พม่าจะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ 


เมื่อสรุปจำนวนครั้งของการรบกับพม่านั้น เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา 24 ครั้ง ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์อีก 20 ครั้ง รวมเป็น 44 ครั้งก่อนที่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

ต่อมาพี่มินพาไปดู วิหารวัดเชียงของ เชียงราย หารหลังนี้ เมืองโบราณได้ขอผาติกรรมมาจากวัดเชียงของ อ. เชียงของ จ. เชียงราย เป็นอาคารเครื่องไม้เก่าแก่ของท้องถิ่น ลักษณะเป็นอาคารโถงขนาดใหญ่ สร้างขึ้นด้วยวิธีการง่ายๆ แต่ชาญฉลาด หลังคายาวลงมาต่ำเกือบถึงพื้นเพื่อบังลมหนาว หลังคามุงด้วยกระเบื้องไม้ ก็ใช้ขอไม้เกี่ยวกับไม้ระแนงที่ทำจากต้นหมาก โดยไม่ต้องใช้ตะปูหรือโลหะยึด


จากนั้นเรายังได้เห็นสถาปัตยกรรมงามๆอีกหลายจุดค่ะ เช่น ศาลาพระอรหันต์


แล้วเราก็หอบปิ่นโตไปนั่งทานข้าวกลางน้ำกันค่ะ มีน้ำล้อมรอบ มีทางเดินรอบๆอยู่แค่นิดเดียว หวาดเสียวว่าเด็กๆจะตกน้ำกันค่ะ แต่ก็กลับบ้านกันแห้งๆได้ทุกคนค่ะ


ระหว่างทานข้าวมีคุณยายพายเรือมาขายผลไม้ และขนมถ้วยด้วยค่ะ ราคาไม่แพงจนเกินไป แค่กล่องละ 25 บาทค่ะ


พอช่วงบ่ายก็เป็นช่วงของงานศิลปะค่ะ วาดรูปด้วยถ่าน Charcoal เราพาเด็กๆไปวาดรูปบริเวณ พระที่นั่งสรรเพชรปราสาท(จำลอง)

พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท คือพระที่นั่งองค์หนึ่งในเขตพระราชวังโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญของราชสำนักและเป็นที่รับแขกบ้านแขกเมืองของพระมหากษัตริย์ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รับราชทูต ฯลฯ แต่พระที่นั่งองค์นี้ถูกเผาทำลายลงทั้งองค์เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ จนในปัจจุบันเหลือแต่ฐาน และ กำแพงบางส่วนเท่านั้น


เมืองโบราณได้จำลองพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาทองค์แรกขึ้น จากซากผังอาคารพระที่นั่งในกรุงศรีอยุธยา ประกอบกับหลักฐานต่าง ๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงหลักฐานจากศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา

แพมกับทิมเลือกอีกมุมหนึ่งค่ะ


หนุ่มๆ พล เม็กก้า บุ้งกี๋ และธีธัชไปอยู่ในศาลาเพื่อวาดรูป



ชุณฬี่ แคท และกันนั่งวาดใต้ต้นไม้


พอวาดกันเสร็จก็เก็บข้าวของมุ่งหน้ากลับบ้านปฐมธรรมเพื่อสรุปงานค่ะ ลีลาการสรุปงานก็ต่างกันไปค่ะ


ผลงานวาดของเด็กๆค่ะ


ใครอยากดูผลการสรุปต้องไปดูในอัลบั้มนี้ค่ะ http://mamaaor.multiply.com/photos/album/108/108
ทีี่มาข้อมูล
เว็บไซต์เมืองโบราณ  http://www.ancientcity.com/