10/08/55 ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร

ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร  (10/08/12)

รอบนี้พากันไปที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.อยุธยากันค่ะ เราเริ่มต้นที่ศาลาพระมิ่งขวัญ ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ทรงไทยประยุกต์สำหรับแสดงผลิตภัณฑ์ซึ่งผลิตขึ้นในศูนย์ฯ เด็กๆได้เดินดูอย่างตื่นเต้นกันใหญ่ เพราะมีสิ่งละอันพันละน้อยเต็มไปหมด แต่ไม่มีใครได้ซื้อของอะไรนะคะ ครูมิกกี้พาเด็กๆไปดูแบบจำลองบ้านทรงไทยกัน ชี้ให้เห็นเอกลักษณ์บ้านของแต่ละภาค และตั้งคำถามทิ้งไว้ว่า เรือน กับ บ้าน แตกต่างกันอย่างไร?

Photo

จริงๆแล้วของที่นี่ไม่แพงเลยนะคะ แม่มุกยังบอกว่างานเซรามิกที่นี่ออกแบบได้ดีและราคาถูกมาก งานกระเป๋าผ้าฝ้ายก็สวยค่ะ สงสัยต้องมาอีกครั้งเพื่อมาช้อปปิ้งโดยเฉพาะค่ะ

Photo

ที่ชั้น 2 ของศาลาพระมิ่งขวัญเป็นการจัดแสดงงานฝีมือชั้นเยี่ยม เด็กๆชอบงานเป่าแก้วรูปต่างๆเป็นพิเศษ และมีงานแกะสลักรูปแม่นอนกอดลูกขนาดเท่าตัวจริงเลยค่ะ เด็กๆยืนมองกันอย่างสนใจอยู่นาน

Photo

ต่อมาก็ถึงเวลาไปดูเบื้องหลังของผลิตภัณฑ์สวยๆเหล่านี้กัน โดยจะมีการแบ่งออกเป็นแผนกต่างๆแยกกัน เราเริ่มกันที่แผนกเครื่องเรือนหวาย เราได้คุยกับพี่ๆที่กำลังนั่งสานเก้าอี้หวายอยู่ เด็กๆรุมถามพี่ๆด้วยความสนใจ เริ่มจากว่าทำไมถึงต้องใช้หวายทำเก้าอี้ ก็เพราะหวายนั้นมีความเหนียว คงทน และดัดง่ายโดยไม่แตกหัก เด็กๆยังเชื่อมโยงไปถึงต้นหวายที่เด็กๆได้เห็นตอนเดินป่ากัยอ.วัชระที่ปางสีดาเมื่อเดือนที่แล้ว ทุกคนร้องอ๋อ!กันใหญ่

Photo

ต่อมาเราไปกันที่แผนกตัดเย็บเสื้อผ้า สังเกตว่าที่แผนกนี้มีแน่สาวๆ และมีจำนวนคนเยอะกว่ามาก มีทั้งการตัดเย็บกระเป๋า และออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า

Photo

แผนกที่เด็กๆสนใจกันมากก็คือ แผนกช่างประดิษฐ์หัวโขน (Thai Mask Making) เด็กๆชี้บอกกันใหญ่ว่่าหัวโขนไหนคือพระราม พระลักษณ์ ลิง และยักษ์ ก็เทอมนี้เด็กๆจะได้เล่นโขนแยกตามบทแล้วค่ะ การทำหัวโขนนั้นเป็นงานช่างที่ใช้เวลานานถึง 6 เดือนเชียวค่ะ

Photo

ที่แผนกข้างๆมีพี่กำลังนั่งเย็บดิ้นทองสำหรับเป็นเครื่องประดับที่ใช้ในโขนและการรำ ระหว่างที่เรากำลังคุยกับพี่ก็มีอาจารย์เดินเข้ามาเล่าให้ฟังว่า ดิ้นทองที่เห็นนั้น ต้องซื้อมาจากผรั่งเศษ ราคากิโลกรัมละหมื่นกว่าบาทเชียวนะคะ อาจารย์ยังบ่นว่าคนไทยน่าจะคิดทำเอง

Photo

แผนกถัดมาเป็นแผนกเจียรไนพลอย แม่อ้อเพิ่งได้เห็นเครื่องเจียรไนพลอยใกล้ๆก็ที่นี่ค่ะ จะเป็นจานแผ่นวงกลมซึ่งมีเส้นเฉียงเรียงติดๆกัน เส้นที่อยู่ริมด้านนอกก็จะห่างกันสำหรับเจียรไนหยาบ ส่วนที่อยู่ใกล้ตรงแกนก็จะชิดกันหน่อยสำหรับการเจียรไนละเอียด

Photo 

Photo

ต่อมาเรายังแวะอีกหลายแผนกค่ะ ทั้งแผนกเครื่องเคลือบดินเผา แผนกช่างโลหะ แผนกช่างบาติก แผนกช่างภาพกระจกสี แผนกช่างเป่าแก้ว แผนกช่างทองเหลือง แผนกทอผ้า และแผนกช่างสาน เป็นงานฝีมือที่ที่เด็กๆสนใจกันมากโดยเฉพาะขั้นตอนวิธีทำ ยิ่งเมื่อเด็กๆตั้งคำถามด้วยควาามอยากรู้อย่างกระตือรือล้น แล้วได้พี่ๆใจดีซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละแผนกอธิบายอย่างมีชีวิตชีวา ช่างเป็นบรรยากาศการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่น่าชื่นใจ แต่ส่วนที่เด็กๆได้ซึมซับโดยไม่รู้ตัว คือ การได้เห็นแบบอย่างของความอดทน พยายาม และความเอาใจใส่ในรายละเอียด เพื่อทำให้เกิดงานวิจิตรเหล่านี้ขึ้นมา

Photo
Photo
Photo

ก่อนทานข้าวเที่ยงเราก็เดินดูบ้านทรงไทยภาคต่างๆ ครูมิกกี้อธิบายให้ฟังว่าเราสามารถแยกแยะได้โดยการสังเกตหลังคา เช่น บ้านไทยภาคใต้จะหลังคาที่มีทรงสูง มีความลาดเอียง ลงเพื่อให้น้ำฝน ไหลผ่านได้ อย่างสะดวก บ้านไทยภาคเหนือจะมี “กาแล” อยู่ด้านบน

Photo 

Photo

เราพักทานข้าวเที่ยงกันที่โรงอาหารของศูนยค่ะ มีโต๊ะเก้าอี้ ร้านขายอาหาร สะดวกสบายมากค่ะ แต่เราก็เตรียมข้าวกล่องมากันเองเป็นปกติค่ะ สนุกสนานกันเหมือนเดิม

Photo

พอท้องอิ่มก็ถึงเวลาที่เด็กๆรอคอย เราไปกันที่…สวนนก! มีค่าเข้าชม 20 บาทสำหรับผู้ใหญ่ แต่ถ้าเป็นเด็กก็แค่ 10 บาทค่ะ ราคานี้..เกินคุ้มค่ะ นกส่วนใหญ่ของที่นี่จะเป็นนกที่มีคนนำมา “บริจาค” จริงๆแล้วคือนกที่คนนำมาเลี้ยงที่บ้านแล้วพอถึงวันที่ไม่สามารถเลี้ยงต่อไปได้ ก็จะเอามาไว้ที่นี่ค่ะ นกเหล่านี้จะถูกปล่อยกลับสู่ธรรมชาติเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม โดยในแต่ละปีทางสำนักพระราชวังจะติดต่อมาเพื่อนำนกเหล่านี้ไปปล่อยในวันมงคลต่างๆ เช่น วันที่ี 12 สิงหาคม

Photo

พอเดินเข้าไปเห็นกรงนก เด็กๆบอกอย่างตื่นเต้นทันทีเลยค่ะ ว่าคือ นกหกเล็ก เดินไปอีกหน่อยก็ชี้ชวนดู นกเขียวปากงุ้ม โอว..คุณแม่และคุณครูทั้งหลายมองหน้ากันอย่างอึ้งๆ เพราะพวกเราจำกันไม่ค่อยได้ค่ะ แต่เด็กๆ..ลูกศิษย์อาจารย์วัชระ จำได้ค่ะ!

Photo

แล้วก็มีคุณลุงเจ้าหน้าที่เดินเข้ามาแนะนำให้ไปเดินในกรงนกใหญ่ พอพวกเราเดินเข้าไปเด็กๆยิ่งตื่นเต้นเข้าไปใหญ่ เพราะคราวนี้เจอทั้ง นกอีโก้ง ชาปีไหน ไก่ฟ้าพญาลอ(ทั้งตัวเมียและตัวผู้) ไก่ฟ้าหลังลาย โอย..เยอะแยะค่ะ คุณลุงถึงกับชื่นชมที่เด็กๆรู้จักนกเยอะมาก และมีความรู้เรื่องนกอย่างดี คุณลุงยังบอกว่า “ทำยังไงให้เด็กแถวบ้านผมเป็นอย่างนี้ได้ครับ? แบบที่เดินเข้ามาแล้วมีสมุดดินสอจด และสนใจเรื่องนก”

Photo

จริงๆแล้วคุณลุงชื่อ คุณสมพงษ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ธรรมดานะคะ เป็นถึงหัวหน้าดูแลสวนนกนี้ คุณลุงเล่าว่าไม่ได้เรียนจบสูงหรอกครับ อาศัยว่าใจรัก พยายามเรียนรู้ และทำงานอย่างจริงๆจัง จนผู้ใหญ่ให้โอกาสได้มาเป็นหัวหน้า คุณลุงไม่ชอบนั่งในห้องแอร์ แต่ชอบลงมาเดินดูแลสวนนกด้วยตัวเองเสมอ พวกเราจึงโชคดีได้มาพบคุณลุงไงคะ คุณลุงใจดีพาเด็กๆเดินดูสวนนกจนทั่ว

Photo

เด็กๆได้ความรู้เรื่องนกอีกแง่มุมจากคนที่ดูแลนกจริงๆ เช่น นกตะกรุมนั้นมีดีที่หาง ถ้าใครสังเกตว่าคนเล่นลิเกเค้าจะมีขนนกปักอยู่บนหัว นั่นแหละค่ะ..ขนจากนกตะกรุม มีราคาแพงมากนะคะ บางสวนสัตว์จะมีเจ้าหน้าที่ใจร้ายคอยดึงหางเหล่านี้ไปขาย แต่ที่นี่..คุณลุงไม่ทำหรอก เพราะนกจะเจ็บแล้วจะไม่ยอมผสมพันธุ์ ดังนั้นเราจะเห็นนกตะกรุมที่นี่มีลูกมาหลายรุ่นแล้วค่ะ

Photo

ระหว่างที่เดินไปเราจะได้ยินเสียงนกร้องตลอดเวลาที่คุณลุงเดินผ่านกรง ที่แท้เป็นเพราะจ้านกทั้งหลายตื่นเต้นนึกว่าจะได้อาหาร แสดงว่าคุณลุงดูแลการให้อาหารด้วยตัวเอง ยิ่งพอเราเดินผ่านเจ้าลิงลม เจ้าลิงลมตาแป๋วเกาะลูกกรงมองพวกเรา จนคุณลุงใจอ่อนไปเอาไข่ไก่ดิบให้มันกิน โดยตอกให้มีปลายเปิดอยู่ด้านหนึ่งแล้วเจ้าลิงลมก็จะใช้สองมือจับแล้วนอนดูดเหมือนดูดขวดนม..หลับตาพริ้มอย่างมีความสุขเสียด้วย คุณลุงเล่าว่าคนมักจะเข้าใจว่าลิงลมนั้นเคลื่อนไหวเร็วจึงเป็นที่มาของ รอยสักลิงลม แต่จริงๆแล้วลิงลมเคลื่อนไหวช้ามาก แต่ใช้วิธีเกาะตามยอดไม้ เคลื่อนที่เร็วเวลามีลมพัดแรงให้ยอดเอนไปต้นข้างๆ

Photo

นกเงือกที่นี่ก็มีอยู่เยอะค่ะ คุณลุงพยายามลองให้มันผสมพันธุ์กัน แต่ไม่ได้ผลเพราะเป็นนกที่ใช้เวลาในการปรับตัวเพื่อจับคู่นานมาก คุณลุงต้องจับตัวผู้และตัวเมียมาอยู่กรงติดกันเป็นเวลา 1 ปี กว่ามันจะยอมเป็นเพื่อนและไม่ต่อสู้กัน

Photo

แม่อ้อไม่สามารถบรรยายความรู้ที่ได้จากคุณลุงสมพงษ์ได้หมดค่ะ เพราะคุณลุงเลี้ยงดูนกด้วยความรักและความเอาใจใส่ ทำให้เวลาเราเดินผ่านไปตรงไหน..คุณลุงมีเรื่องเล่าให้พวกเราฟังตลอด  สิ่งพวกเราสัมผัสได้ คือ คุณลุงรักและทุ่มเทให้กับงานมาก เด็กๆช่างโชคดีที่ได้เห็นอีกตัวอย่างของการทำงานโดยเอา “ใจ” ใส่ลงไปในงาน ทำให้คุณลุงมีความสุขในทุกวันที่ทำงาน

 

Photo

วันนี้ช่างเป็นวันโชคดีของเด็กๆได้พบกับคนที่น่าชื่นชม แล้วแม่อ้อก็นึกถึงสิ่งที่ได้คุยกับพี่ที่นั่งฝึกทำเก้าอี้หวาย  เก้าอี้หวายที่พี่นั่งสานอยู่นั้น…ใช้เวลา 1 เดือน ต้องฝึกสานอย่างนี้อยู่ 6 เดือนกว่าจะจบหลักสูตร ที่นี่มีที่พักให้ น้ำไฟพร้อมสรรพ และข้าว 2 มื้อ บวกกับเงินเบี้ยเลี้ยงอีกวันละ 70 บาท ถ้าชิ้นงานที่ทำสำเร็จถูกขายได้ ก็จะได้เปอร์เซ็นต์ด้วย โครงการนี้ริเริ่มโดยแม่หลวงของพวกเราค่ะ พวกเราโชคดีที่เป็นคนไทย มีแม่ของแผ่นดินที่มองการณ์ไกลเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

Photo

ปล. ในความเห็นของแม่อ้อ..แน่นอนค่ะว่าการสร้างอาชีพนั้นย่อมใช้เวลานานกว่า แต่มันเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว มิใช่แค่สร้างประชานิยมแจกเงินแบบนักการเมือง มันช่างเป็นความจริง…สำหรับกลอนที่ส่งต่อกันมาว่า “นักการเมืองยื่นปลา พระราชายื่นเบ็ด”