1 กรกฏาคม 2554
ตอนรู้จากครูสุว่าจะไปพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลอง 5 ปทุมธานี กันในอาทิตย์นี้กับเด็กๆ แม่อ้อสุดแสนจะดีใจ เพราะไม่เคยไปเลย เมื่อปีที่แล้วที่ไปพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาซึ่งอยู่ข้างๆกัน ก็ได้แต่มองตึกลูกเต๋าอย่างเสียดาย หมายมั่นว่าจะต้องมาให้ได้ แล้วก็ได้มากันจริงๆ
หลังจากขับรถอ้อมโลกชั่วโมงครึ่ง จากพุทธมณฑลสาย 3 ไปถึงรังสิตคลอง 5 เราก็มาถึงพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์กัน ก่อนเข้าไปเห็นป้ายสีแดงที่เขียนไว้ว่า
If you listen, you will know
if you see, you will remember
if you do, you will understand
เป็นคำที่โดนใจและใช่เลยค่ะ เป็นสิ่งที่เราพยายามทำกันมาตลอด เด็กต้องเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ผ่านของจริง ถึงจะเข้าใจ
เราไปถึงตอนใกล้ 10 โมง แต่การแสดงการทดลองวิทยาศาสตร์ที่เราจะดูนั้นเป็นรอบ 11 โมงค่ะ เด็กๆจึงมีเวลาบันทึกนิทรรศการชั้นหนึ่งกันเป็นชั่วโมง เด็กๆเริ่มกันที่แบบจำลองสึนามิ เด็กๆได้ทดลองโยกคันบังคับเพื่อทำให้น้ำกระเพื่อมเป็นคลื่นซัดเข้าหาภูเขาและบ้านจำลอง ซึ่งเด็กๆจะได้สังเกตคลื่นที่จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าถึงฝั่ง
ที่นี่มีบ้านเล็กๆที่จำลองการเกิดแผ่นดินไหวใน 3 ระดับ มีปุ่มเลือกระดับได้ เด็กๆเข้าไปเบียดกันอยู่ในนั้น พอบ้านไหวก็กรี๊ดกร๊าดกันใหญ่ แม่อ้อลองเข้าไปเล่นดูแล้ว แผ่นดินไหวระดับมากสุดนั้น ไหวจนผู้ใหญ่ก็ยังยืนไม่อยู่เหมือนกันค่ะ
หลังจากเล่นกันพอแล้ว ก็ไปบันทึกข้อมูลเรื่องแผ่นดินไหว ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
น้องชุณฬี่กับน้องจั้ง ซึ่งเป็นน้อง ป.1 ที่ยังอ่านเขียนไม่คล่องก็พยายามอ่านกันค่ะ เพราะเพิ่งผ่านประสบการณ์แผ่นดินไหวจำลองมา แล้วทำให้อยากรู้ที่มาของการเกิดแผ่นดินไหว เป็นแรงจูงใจให้ได้ฝึกทักษะการอ่านเป็นอย่างดีค่ะ
เด็กๆตื่นเต้นกับเครื่องวัดสารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งเคยได้ยินจากข่าวสึนามิที่ญี่ปุ่น วาดรูปกันใหญ่เลยค่ะ
เดินต่อไปก็พบนิทรรศการ นักวิทยาศาสตร์รุ่นบุกเบิก โจทย์ที่เด็กๆได้รับคือ ให้เลือกบันทึกนักวิทยาศาสตร์ที่เด็กๆชอบ พี่โตป.4 ก็บันทึกมาหลายคนหน่อย เด็กเล็กก็น้อยหน่อย จากนั้นเด็กๆก็แยกย้ายกันบันทึก
ภาพที่เด็กบันทึกกันอย่างตั้งใจที่เราเห็นกันจนชินเวลาพาเด็กๆออกทัศนศึกษานั้น เห็นทีไรก็ภูมิใจทุกที แต่มันเป็นภาพที่แปลกประหลาดสำหรับคนทั่วไปค่ะ
คุณครูจากโรงเรียนอื่นที่พาเด็กๆมาทัศนศึกษาก็ยังต้องมาชะโงกดูว่าเด็กๆเราจดอะไรกัน
ระหว่างที่บันทึกกันอยู่นั้น ก็มีกลุ่มพี่ๆเสื้อสีส้มซึ่งมาทัศนศึกษาก็วิ่งกรูกันเข้ามา ถามไถ่ได้ว่าอยู่ชั้น ป.5 เค้าคงกำลังรอเข้าชมการแสดงทดลองวิทยาศาสตร์เหมือนเรา เด็กๆเราเลยได้ฝึกสมาธิไประหว่างการบันทึกไปด้วย ในรูปนี้ครูคมกำลังยืนดูแลน้องทอมที่กำลังบันทึกอยู่ท่ามกลางพี่ๆเสื้อส้มซึ่งเสียงดังมากและวิ่งไปวิ่งมาตลอด
ระหว่างรวมกลุ่มยืนรอเข้าห้องการแสดง บริเวณนั้นมีนิทรรศการเกี่ยวกับความรัก และเชื่อมโยงไปถึงการสืบพันธุ์ พอดีเหลือเกินที่เด็กๆยืนรอกันอยู่ตรงหน้าทีวีซึ่งแสดงคลิปวีดีโอสั้นๆการผสมพันธุ์ของสัตว์ต่างๆ ทั้งงู แพะ ปลาหมึก สิงโต ฯลฯ เด็กๆยืนตาโตมองกันอย่างสนใจ
ดูแววตาแต่ละคนซะก่อน กิ๊วก๊าวกันใหญ่เชียวค่ะ
พอถึงสิบเอ็ดโมง เราก็ได้เข้าห้องการแสดงวิทยาศาสตร์ พี่เจ้าหน้าที่ใจดีให้กลุ่มเราเข้าก่อนค่ะ ได้ที่นั่งด้านหน้า จากนั้นพี่ๆเสื้อส้มก็เข้ามา พวกเราเลยเป็นชนกลุ่มน้อยไปทันทีเลยค่ะ
หัวข้อการแสดงการทดลองวิทยาศาสตร์ในวันนี้คือ มหัศจรรย์ของเย็น และวิทยากรของเราคือ พี่โอ๋
ของวิเศษที่พระเอกของการทดลองในวันนี้คือ ไนโตรเจนเหลว พี่โอ๋เล่าว่าไนโตรเจนนั้นอยู่ในอากาศรอบตัวเรา โดยอากาศ 5 ส่วนจะมีไนโตรเจน 4 ส่วนและออกซิเจน 1 ส่วน แบคทีเรียไลโซเบียมซึ่งอยู่ในปมรากต้นไม้ตระกูลถั่วสามารถดึงกาซไนโตเจนมาใช้ได้ เวลาต้นไม้ตายก็จะทับถมในดินอยู่ในรูปไนเตรท แล้วแบคทีเรียก็จะย่อยกลับให้เป็นกาซใหม่อีกครั้ง สำหรับไนโตรเจนเหลวนั้นมีอุณหภูมิต่ำถึง -196 องศาเซลเซียส ถ้าเจอกับอุณหภูมิห้องก็จะกลายเป็นก๊าซทันที
พี่โอ๋คว้าอุปกรณ์สำคัญมาโชว์ โดยโม้ไว้ว่าเป็นอุปกรณ์ไฮเทคจากเยอรมัน แต่ที่แท้คือที่ลวกก๋วยเตี๋ยวนี่เอง ส่วนในถังสีน้ำเงินนั้นคือ ไนโตรเจนเหลว
พี่โอ๋เริ่มด้วยการเอาแท่งไม้ใส่ลงไปใสที่ลวกก๋วยเตี๋ยว แล้วก็หย่อนลงไปในไนโตรเจนเหลว จากนั้นก็แจกจ่ายแท่งไม้ไปให้เด็กๆในห้องได้จับสัมผัสถึงความเย็นกันทุกคน ในรูปนี้ธีธัชกำลังถือแท่งไม้เย็นอยู่ค่ะ
ต่อมาพี่โอ๋เอาลูกโป่งแท่งยาวแช่ลงไปในไนโตรเจนเหลวอย่างนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อากาศในลูกโป่งหดตัวทำให้ลูกโป่งเป็นอย่างนี้
ที่ตลกก็คือ พอเอาลูกโป่งออกมาจากไนโตรเจนเหลวลูกโป่งก็จะกลับมาพองเหมือนเดิมค่ะ จากนั้นก็เอาล้อยางรถยนต์ซึ่งตัดมาเป็นรูปสามเหลี่ยม แช่ลงไปในไนโตรเจนเหลวให้แข็งเป๊ก แล้วจึงเอามาตอกใส่ไม้ราวกับเป็นตะปูได้เลยค่ะ พี่โอ๋เล่าว่า เค้ารีไซเคิลยางรถยนต์กันด้วยวิธีนี้ คือเอาไนโตรเจนเหลวราดบนยางรถยนต์แล้วเอารถบดถนนแล่นทับให้ยางนั้นแตกละเอียดก่อนจะเอาไปหลอมใหม่
ต่อมาพี่โอ๋ขออาสาสมัครมาช่วยพี่โอ๋ โดยพี่โอ๋ขอเป็นน้องๆจากกลุ่มเรา น้องทอมยกมืออาสาค่ะ พี่โอ๋ให้น้องทอมถือลูกเหล็กกลม ส่วนพี่โอ๋ถือวงแหวนเหล็กซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าลูกเหล็ก แล้วให้น้องทอมปล่อยลูกเหล็กผ่านวงแหวน ซึ่งแน่นอนค่ะ…ลูกเหล็กจะตกผ่านวงแหวนเหล็กไปกระทบพื้น จากนั้นพี่โอ๋ก็เอาวงแหวนเหล็กไปแช่ในไนโตรเจนเหลวซักพัก แล้วก็ให้น้องทอมปล่อยลูกเหล็กเหนือวงแหวนอีกครั้ง
คราวนี้ลูกเหล็กตั้งอยู่บนวงแหวนเหล็กได้ เพราะอะไรเอ่ย? ติ๊กต่อก..ติ๊กต่อก…
ก็เพราะวงแหวนเหล็กหดตัวน่ะสิคะ เส้นผ่านศูนย์กลางก็เลยหดเล็กจนลูกเหล็กผ่านเข้าไปไม่ได้ วิธีนี้เป็นวิธีการที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ การเชื่อมเย็นล้อรถไฟ และใบพัดเฮลิคอปเตอร์ โดยจุ่มแกนล้อรถไฟที่ผลิตขึ้นจากเหล็กและมีขนาดใหญ่กว่ารูของล้อ ซึ่งแกนเหล็กจะหดตัวแล้วใส่เข้าพอดีกับรูของล้อ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นแกนล้อจะขยายตัวแล้วติดแน่นกับล้อ
แล้วพี่โอ๋ก็เริ่มทดลองกับสิ่งมีชีวิต แต่ไม่ได้เอาเด็กๆมาจุ่มหรอกนะคะ เอาดอกเข็มกับกล้วยมาจุ่มในไนโตรเจนเหลว เวลาจุ่มก็จะมีควันขาวๆออกมาน่าตื่นตาอย่างนี้
สำหรับสิ่งมีชีวิตซึ่งมีน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญแล้ว ไนโตรเจนเหลวจะทำให้น้ำในเซลล์แข็งตัว กล้วยก็จะแข็งเป๊กเอามาเคาะโต๊ะก็ไม่เป็นไร แต่สำหรับดอกเข็มนั้น พอน้ำในเซลล์แข็งตัวก็จะขยายตัวให้เซลล์แตก ดอกเข็มจึงเปราะแตกง่าย
ต่อมาพี่โอ๋ก็ขออาสาสมัครจากพี่โตเสื้อส้ม มาเก็บไนโตรเจนเหลวกลับบ้าน เริ่มโดยเทไนโตรเจนเหลวเก็บใส่กระป๋องเหล็กแล้วเอาฝาพลาสติกปิด เดินไปได้ไม่กี่ก้าวฝากกระป๋องก็โดนดีดกระเด้งออกมา พี่โอ๋เลยบอกว่า…งั้นเก็บใส่ลูกโป่งแล้วกัน เดาได้มั้ยคะว่าจะเกิดอะไรขึ้น?
เฉลยค่ะ…ลูกโป่งแตกค่ะ เพราะพอไนโตรเจนเหลวเปลี่ยนเป็นก๊าซจะขยายตัว 700 เท่าค่ะ
ต่อมาพีโอ๋เล่นสนุกเอาปืนใหญ่ที่มีลูกบอลอยู่ด้านในออกมาตั้ง แล้วเทไนโตรเจนเหลวใส่เข้าไปเพื่อให้ขยายตัวดีดลูกบอลออกมา เด็กๆกรี๊ดกร๊าดหลบกันวูบวาบ
สุดท้ายลูกบอลก็ถูกดีดออกมาลอยไปในอากาศแล้วค่อยตกลงมาในกลุ่มนักเรียนอย่างเบาๆค่ะ ่ไม่มีอะไรระเบิดเหมือนกับที่เด็กๆกลัวกัน ฮ่า ฮ่า ฮ่า
พี่โอ๋เป็นวิทยากรที่สุดยอดค่ะ เด็กนั่งดูหัวเราะกันอย่างสนุกสนานพร้อมกับได้ความรู้ด้วย เวลา 1 ชั่วโมงผ่านไปเร็วมาก
ขอบคุณพี่โอ๋สำหรับวิทยาศาสตร์แสนสนุกค่ะ
ออกมาจากห้องแสดงการทดลองวิทยาศาสตร์ก็เที่ยงพอดี เด็กๆนั่งทานข้าวกันในโรงอาหาร ซึ่งติดแอร์ มีโต๊ะเก้าอี้ให้สะดวกสบายเชียวค่ะ
เรามีไข่นกกระทาที่แม่หลินซื้อมาไว้ให้เด็กๆด้วยค่ะ
พอทานข้าวเสร็จเราก็เดินขึ้นไปดูที่ชั้น 2 ซึ่งเป็นส่วนประวัติความเป็นมาของวิทยาศาสตร์ ที่นี่เราได้เจอกับป้า “ลูซี่” ซึ่งเป็นหุ่นจำลองมาจากมนุษย์ยุคหินอายุ 3.2 ล้านปีที่ขุดพบในเอธิโอเปียเมื่อปี พ.ศ. 2517 ลิงใหญ่ชนิดนี้ถือว่าเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์เราค่ะ และถ้าจ้องตาป้าลูซี่ดีๆ ตาของป้าจะขยับไปมาได้ด้วยนะคะ!
ที่ด้านข้างก็มีแผ่นชาร์ตแสดงวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ในด้านสื่อสาร พลังงาน โลก และอวกาศ สสาร และสิ่งมีชีวิต เปรียบเทียบกันไปให้เห็นไปเลยว่าด้านไหนเจริญมากว่ากัน
ต่อมาเราเดินขึ้นไปที่ ชั้น 3 : วิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน และพลังงาน ที่นี่จัดแสดงรูปชิ้นงานที่สามารถจับสัมผัสเล่น ทดลองได้เต็มที่เลยค่ะ เด็กๆกระจายกันไปทดลองและเลือกบันทึกในสิ่งที่ชอบค่ะ
แม่อ้อชวนน้องเจสไปเล่นจานกระซิบกับพี่แพม โดยเวลาน้องเจสพูด จานยักษ์จะช่วยสะท้อนและขยายเสียงให้พี่แพมที่ยืนอยู่ห่างไปไกลสามารถได้ยิน
ธีธัชลองพูดเข้าไปในท่อที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง และความยาวที่แตกต่างกันเพื่อฟังเสียงสะท้อนออกมาที่ต่างกันไป
น้องกันสนุกกับการออกแรงหมุนจานเพื่อปั่นไฟ
เด็กๆเล่นกับพลาสมา น้องกันได้ลองใช้ดินสอ และยางลบแตะดูเพื่อดูว่าแสงจะวิ่งตามหรือเปล่า
ธีธัชทดลองการนำความร้อนของ ทองแดง ทองเหลือง และอลูมิเนียม
ทดลองเรื่องแรงเสียดทานของพื้นผิวที่ต่างกัน โดยพื้นผิวในแต่ละรางจะมีแรงเสียดทานต่างกัน พอเราเอียงกระดานทั้งแผ่นแป้นที่มีด้ามจับสีดำจะวิ่งลงมาด้วยความเร็วแต่างกัน
ส่วนอันนี้แม่อ้อชอบมากเลยค่ะเพราะทำให้เข้าใจเรื่องเกียร์รถมากขึ้น คือ…ในเกียร์ต่ำๆเช่นเกียร์ 1 นั้น เป็นเฟืองขนาดเล็กทำให้ใช้แรงน้อยเพื่อหมุนแต่ยกตุ้มน้ำหนักขึ้นได้ช้า แต่ถ้าเกียร์สูงๆจะเป็นการหมุนเฟืองขนาดใหญ่ทำให้ต้องออกแรงเยอะและยกตุ้มน้ำหนักขึ้นได้ง่ายมาก ซึ่งในรูปนี้อันขวาสุดนั้นเป็นเกียร์สูงค่ะ
พี่พลสนุกกับการถีบจักรยานเพื่อปั่นไฟ มีน้องเจสคอยบอกว่าออกแรงหน่อย
พลกับชุณฬี่ทดลองเรื่องรอก
หลุมดำ ของเล่นสุดโปรดของเด็กๆ
หลังจากได้ทดลองเล่นกันสนุกสนาน เราก็เดินทางกลับกัน โดยบันทึกที่เด็กๆจดและวาดรูปกันมานั้น อัดแน่นไปด้วยข้อมูล พอเราไปถึงบ้านปฐมธรรม เด็กๆก็มีหน้าที่สรุปองค์ความรู้ของตัวเองลงไปในกระดาษเปล่า จะวาดจะเขียนอะไรก็แล้วแต่เด็กๆค่ะ
นี่เป็นงานสรุปของน้องวินค่ะ
ภาพของเด็กๆที่นั่งสรุปงานกันเป็นวงนั้น ประทับใจแม่อ้อมากเลยค่ะ ทั้งๆที่ไปทัศนศึกษากันมาเหนื่อย นั่งรถกันเป็นชั่วโมง กว่าจะถึงบ้านปฐมธรรมก็สี่โมงกว่าแล้ว แต่เด็กๆก็ตั้งใจสรุปงานกันมากค่ะ
แม่อ้้อตบมือให้กับความพากเพียรของเด็กๆเลยค่ะ
ดูรูปเพิ่มเติม : http://mamaaor.multiply.com/photos/album/100
ข้อมูลเพิ่มเติม : พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลองห้า