17 มิถุนายน 2554
วันนี้เราไปศิริราชกันอีกครั้ง เพราะยังเหลือพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจอีก 3 แห่งได้แก่ พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา ซึ่งทั้ง 3 พิพิธภัณฑ์นี้อยู่ที่ ชั้น 2 ของตึกอดุลยเดชวิกรม เราเลยจะไปหาความรู้จากพิพิธภัณฑ์ทั้ง 3 แห่งนี่เลย
เราเริ่มต้นที่พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส วิทยากรของเราคือคุณหมอวชิรา หรือคุณ
หมออุ๊ยค่ะ
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดว่า พยาธิวิทยา คือการศึกษาเกี่ยวกับพยาธิหรือปรสิตนะคะ อันนั้นเรียกว่าปรสิตวิทยา จริงๆแล้ว พยาธิวิทยา คือ การศึกษาหาสาเหตุของโลก และวินิจฉัยโรคจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เทคนิควิทยาศาสตร์ ประกอบกับข้อมูลของผู้ป่วย
สำหรับพิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิสนี้ ศ.นพ.เอ.จี.เอลลิส พยาธิแพทย์คนแรกของไทย ซึ่งเป็นแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาช่วยพัฒนาศิริราชตามโครงการความร่วมมือกับมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ ในช่วงปี พ.ศ. 2462 ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาในศาลาปาโถโลยี ซึ่งเป็นที่ทำการและสถานที่เรียนพยาธิวิทยาในสมัยแรก ตึกดังกล่าวได้ถูกระเบิดทำลายเกือบทั้งหมดในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา พยาธิแพทย์รุ่นหลังได้รวบรวมสิ่งแสดงต่าง ๆ ตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่ให้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส” เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์และเป็นอนุสรณ์แด่ท่าน
คุณหมอยังเล่าถึงสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก บิดาการแพทย์ไทยซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระราชบิดาในหลวงของเรา ท่านเป็นผู้วางรากฐานให้กับกิจการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ พัฒนาโรงเรียนแพทย์และหลักสูตร พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากในการส่งนักเรียนไทยไปศึกษาด้านการแพทย์ ทรงปลูกฝังอุดมคติของการเป็นแพทย์ ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้ว่า”ฉันไม่ได้ต้องการให้เธอเป็นเพียงหมออย่างเดียวเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้เธอเป็นคนด้วย”
ต่อมาคุณหมอพาเด็กๆไปดูส่วนการแสดงพัฒนาการและสิ่งผิดปกติของทารก โดยเริ่มเล่าตั้งแต่การปฏิสนธิ การแบ่งตัวของเซลล์ในมดลูก
ดูหุ่นจำลองแสดงพัฒนาการของทารกในครรภ์ตั้งแต่เดือนแรกจนเดือนสุดท้าย
จากนั้นเด็กๆก็เดินดูทารกซึ่งผิดปกติอย่าสนใจ แต่แม่อ้อไม่ได้ถ่ายรูปไว้ค่ะเพราะเจ้าหน้าที่ขอไว้ เนื่องจากมีมิจฉาชีพที่เข้ามาขโมยทารกเหล่านี้ไปทำพิธิทางไสยศาสตร์ น่าสนใจแค่ไหนต้องดูจากแววตาเด็กๆค่ะ
จุดต่อมาเป็นห้องเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจและระบบไหลเวียนของเลือด และหัวใจที่เป็นโรคเช่นหัวใจขาดเลือด ลิ้นหัวใจรั่ว
คุณหมอถามว่า เจาะเลือดแล้วได้เลือดดำหรือเลือดแดง เด็กๆตอบได้ว่าเลือดดำ และธีธัชยังบอกได้อีกว่าเพราะเส้นเลือดแดงจะอยู่ตรงกลางเนื่องจากสำคัญกว่า
ต่อมาเป็นการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับนมะเร็งที่พบได้บ่อยในประเทศไทย ซึ่งเด็กๆสนใจมาก ธีธัชถามว่ามะเร็งเกิดจากอะไร พี่แพมถามว่าเด็กเป็นมะเร็งได้ไหม
มะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงก็คือ มะเร็งเต้านม รองลงมาก็เป็นปากมดลูก พี่แพมถามต่ออีกว่า ถ้าแม่คลอดลูกและเป็นมะเร็งเต้านมจะให้นมลูกได้ไหม คุณหมอตอบว่าได้ค่ะ
ต่อมาเราไปกันที่ พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน ซึ่งอยู่ข้้างๆกันนี่เอง โดยเรามีอาจารย์สุรศักดิ์ สุวุฒโฑ หัวหน้าฝ่ายบริการการศึกษาเป็นวิทยากรให้เราค่ะ
สิ่งที่พลาดไม่ได้เมื่อมาพิพิธภัณฑ์นี้ก็คือ ซีอุย !! แม่อ้อล่ะขำกับพฤติกรรมของเด็กๆ เพราะระหว่างที่วิทยากรเล่าเรื่องซีอุยไป เด็กๆก็อ้าปากหวอ ตาโต กันอย่างนี้
แล้วเด็กๆก็ค่อยๆเขยิบเข้ามาชิดกันเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ยืนกระจุกแขนชนแขนกันอย่างนี้ ฮ่า ฮ่า ฮ่า สุดท้ายวิทยากรก็สอนว่า ซีอุยเป็นผลจากความเชื่อที่ผิดๆว่ากินหัวใจเด็กทำให้แข็งแรง
ไม่มีใครเดินแตกกลุ่มไปไหนเลยค่ะ ยืนเรียงกันสองแถวเรียบร้อยกริ๊บเชียวล่ะค่ะ (ซีิอุยอยู่ในตู้ซึ่งวิทยากรยืนบังอยู่ค่ะ)
ต่อมาเราเดินไปที่ พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา เป็นที่รวบรวมตัวอย่างปรสิตและสัตว์มีพิษต่างๆ ที่มีความสำคัญทางการแพทย์ เด็กๆได้เห็นทั้งพยาธิตัวกลม ตัวแบน ตัวตืด วิทยากรยังสอนเด็กๆว่าไม่ให้ทานอาหารสุกๆดิบๆ และที่ต้องระวังที่สุดคือ ผักดิบต้องล้างให้สะอาด เพราะพยาธิมักอยู่ในปุ๋ยคอกซึ่งมักจะค้างอยู่บนใบผัก
นอกจากนี้ เด็กๆยังได้เห็นอัณฑะหนัก 35 กิโลกรัมของชายที่ติดโรคเท้าช้าง แม่อ้อไม่ได้ถ่ายรูปมาค่ะ แต่ถ้าอยากเห็นไปดูได้ในวีดีโอบน YouTube นี่เลยค่ะ http://www.youtube.com/watch?v=jNiMRp8qAnU
คำถามเด็ดจากพี่แพมคือ ถ้าอัณฑะใหญ่ขนาดนี้แล้วอสุจิใหญ่ขนาดไหนคะ? ฮ่า ฮ่า ฮ๋า
และแม่อ้อยืนยันกับวิทยากรแล้วนะคะว่า ปลาทะเลก็มีพยาธิค่ะ ชื่อ Anisakis simplex ดังนั้นใครชอบทานซูชิต้องระวังไว้ด้วยค่ะ
แล้วในช่วงหลังก็เป็นช่วงตอบคำถาม โดยเด็กๆนั่งล้อมวงคุณหมออุ๊ยแล้วก็ถามคำถามกันใหญ่ คำถามที่แม่อ้อพอจดไว้ทันเช่น
ทอม : ช็อคคืออะไร ต่างกับชักอย่างไร
ธีธัช : ออทิสติกคืออะไร
กัน : หัวใจหนักเท่าไหร่
ธีธัช : ไส้ติ่งแตกเป็นอย่างไร (ปวดท้องน้อยด้านขวา)
เม็กก้า : ทำแท้งกับทำหมันเหมือนกันไหม
แล้วในช่วงสุดท้ายเราก็แสดงความขอบคุณสำหรับความรู้จากคุณหมออุ๊ย การตอบคำถามเด็กๆอย่างไม่รู้เบื่อของคุณหมอเป็นความกรุณาอย่างมากค่ะ
ช่วงท้ายสุดเราก็ปล่อยให้เด็กๆกลับเข้าไปพิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาอีกครั้งเพื่อเก็บงานบันทึกที่ยังไม่เสร็จค่ะ
ข้อมูล
http://www.med.cmu.ac.th/secret/admin/web/mahidol.html
http://www.vcharkarn.com/varticle/38645
ยังมีรูปของเด็กๆเพิ่มเติมอีกนะคะ ไปดูได้ที่ http://mamaaor.multiply.com/photos/album/98/98