24 มิถุนายน 2554
สัปดาห์นี้เราเรียนรู้เรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยกันที่ รัฐสภา แหม..ช่างเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. 2554 ค่ะ และก็บังเอิญว่าวันที่เราไปนั้นเป็นวันที่ 24 มิถุนายนก็เป็นวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ด้วยค่ะ
วิทยากรของเราซึ่งคือ พี่ก้อย ก็นำเด็กไปกันที่ห้องประชุม เนื่องจากกลุ่มของเราเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มเดียว ห้องประชุมเลยดูกว้างขวางมากเชียวค่ะ
เด็กๆได้ดีวีดีทัศน์ซึ่งเป็นการ์ตูนแนะนำโครงสร้างและหน้าที่รัฐสภาไทย นั่งดูกันไป ก็จดกันไปค่ะ
หลังจากดูวีดีทัศน์แล้ว พี่ก้อยก็เอาของที่ระลึกมาแจกค่ะ เป็นถุงผ้าที่ด้านในมีสมุดโน้ต ดินสอ
และที่เด็กๆตื่นเต้นมากคือ ตุ๊กตาตัวเล็กๆ!! ดูแล้วไม่ค่อยเข้าพวกกับของที่ระลืกอื่นในถุง แต่เด็กผู้หญิงกรี๊ดกร๊าดกันใหญ่
ต่อมาพี่ก้อยพาเราเดินมาดูโมเดลของรัฐสภาแห่งใหม่ค่ะ ซึ่งจะสร้างอยู่ที่เกียกกาย ตรงที่เป็นรร.โยธินบูรณะ อาคารรัฐสภาใหม่ชื่อว่า “สัปปายะสภาสถาน” หมายถึงสถานที่ประกอบกรรมดี!! แม่อ้อก็หวังเหลือเกินค่ะ ว่าจะมีกฏหมายดีๆเพื่อประชาชนออกมา ไม่ใช่กฏหมายดีๆเพื่อคนบางคนเท่านั้น
เดินต่อมาก็ผ่านตู้จดหมายที่เรียงรายอยู่ด้านข้างซ้ายขวา แต่ละช่องก็มีชื่อของนัการเมืองทั้งหลายกำกับอยู่ค่ะ แม่อ้อสังเกตว่าบางตู้จะมีเอกสารค้างอยู่เต็มตู้เลยค่ะ
จากนั้นเราก็ไปที่ห้องประชุมรัฐสภาชั้น 2 ค่ะ พอเราเข้าไปเด็กๆร้องโอ้โหกันใหญ่ เพราะเราอยู่ด้านบนได้เห็นห้องประชุมอันโอ่โถงกันเต็มที่
พี่ก้อยชี้ให้ดูที่นั่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และส.ส. เด็กๆก็วาดรูปกันไปค่ะ
แล้วก็เป็นอย่างที่แม่อ้อคาดการณ์ไว้ค่ะ น้องแพมทำดินสอตกลงไป ฮ่า ฮ่า ฮ่า พี่ก้อยบอกว่าเก็บไม่ได้ค่ะ เพราะไม่มีกุญแจเปิด ดังนั้นเปิดประชุมคราวหน้าท่านผู้แทนอันทรงเกียรติบางคนคงได้ดินสอของน้องแพมเป็นที่ระลึกค่ะ
พี่ก้อยเล่าให้ฟังว่า รัฐสภาไทยแบ่งเป็น 2 ส่วนค่ะ คือ สภาผู้แทนราษฏร 500 คนและวุฒิสมาชิก 150 คน โดยสภาผู้แทนราษฏรนั้นมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งได้แก่ ส.ส. 375 คนและส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อีก 125 คน
ส่วนวุฒิสมาชิกนั้นมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละคนก็จะเป็น 77 คน และมาจากการแต่งตั้งอีก 73 คน
พอเดินออกมาด้านหน้าก็เจอกับพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 7 กับลายพระหัตถ์ของท่าน แม่อ้ออ่านแล้วซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณเหลือเกินค่ะ ไม่รู้นักการเมืองเดินผ่านไปอยู่บ่อยๆได้ซาบซึ้งหรือเปล่าเนอะ
ต่อมาพี่ก้อยนำเราไปที่พิพิธภัณฑ์รัฐสภาไทยซึ่งอยู่ด้านล่าง โดยเรามีวิทยากรอีกท่านมาเล่าเรื่องราวค่ะ คือ พี่กวน ค่ะ
พี่กวนเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ซึ่งอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 7 ตอนนั้นท่านประทับอยู่ที่วังไกลกังวล ขณะที่ถูกคณะราษฏรยึดอำนาจ
สมาชิกคณะราษฏรส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักเรียนทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในทวีปยุโรป เป็นกลุ่มคนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ข้อมูลที่แม่อ้อได้จาก wikipidia ที่น่าสนใจ คือ
“คณะราษฎรประกอบไปด้วยประชาชนทุกอาชีพ ทั้งพ่อค้า ข้าราชการพลเรือน และทหาร ทั้งหมด 102 คน แบ่งเป็นสามสายคือ สายทหารบก สายทหารเรือ สายพลเรือน โดยสมาชิกที่สำคัญในการก่อตั้งคณะราษฎร ในแต่ละสายได้แก่
1. สายทหารบก: พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน), พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมะศิริ), พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น), และ หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)
2. สายทหารเรือ: หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน), หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย), หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวรณ์ สุวรรณชีพ), และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์)
3. สายพลเรือน: หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์), ตั้ว ลพานุกรม, แนบ พหลโยธิน, ทวี บุณยเกตุ, และประยูร ภมรมนตรี “
แม่อ้อได้ยินเสียงเด็กๆถามว่า ถ้าเราไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง…ตอนนี้ประเทศไทยจะเป็นยังไง? ช่างเป็นคำถามที่โดนใจแม่อ้อเหลือเกิน วิทยากรก็บอกว่าไม่ทราบครับ สิ่งต่างๆในโลกมันย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
ที่พิพิธภัณฑ์รัฐสภานี้ แม่อ้อได้เห็นพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ได้ทรงเขียนไว้เมื่อปี 2477 (2 ปีหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้นได้ใช้การปกครองไม่ตรงกับหลักการของพระองค์และการเจรจาแก้ไขกฎหมายไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ จึงทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ เป็นพระราชหัตถเลขา 4 หน้ากระดาษ ซึ่งที่แม่อ้ออยากให้ทุกคนได้อ่านบางส่วนค่ะ จึงคัดลอกมาและไว้ในส่วนท้ายนะคะ โดยวรรคทองที่เราเคยได้อ่านก็อยู่ในจดหมายนี้ค่ะ
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นองข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฏรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฏร”
ถ้าใครเคยเห็นอนุเสาวรีย์ประชาธิปไต ก็จะพอรู้ว่าบนพานยักษ์นั้นคือรัฐธรรมนูญ แม่อ้อก็เพิ่งเคยเห็นรัฐธรรมนูญของจริงที่นี่ล่ะค่ะ มีหลายฉบับค่ะ เป็นกระดาษที่พับไปมาเหมือนที่เราเห็นบนพานยักษ์นั่นล่ะค่ะ
เด็กๆพยายามจะอ่านรัฐธรรมนูญ แต่อ่านไม่ออกค่ะ เพราะว่าหน้าแรกที่เปิดไว้นั้นเป็นภาษาที่อ่านยากค่ะ
“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค 2492 พรรษา ปัจจุบันนสมัย จันทรคตินิยม อุสภสมพัตรสร ผัดคุณมาส กาฬปักษ์ ทศมีดิถี สุริยคติกาล มีนาคมมาส เทวีสติมสุรทิน พุธวาร โดยกาลบริจเฉต”
สมัยนี้รัฐสภาใช้การกดปุ่มเพื่อโหวต แต่สมัยก่อนใช้เบี้ยสีนำเงินและแดงในการลงคะแนนโหวตค่ะ
เวลาประชุมสมัยก่อนเป็นอย่างนี้ค่ะ จำนวนผู้แทนไม่เยอะค่ะ
จากนั้นเราก็ให้เวลาเด็กๆแยกย้ายกันบันทึก
แล้วก็ถึงเวลาที่เราขอบคุณพี่ก้อย วิทยากรใจดีของเรา เพราะพี่ก้อยต้องไปดูแลงานนิทรรศการ 24 มิถุนายน
พอเราเดินออกมาจากหน้าพิพิธภัณฑ์ เราก็เห็นผนังสีขาวด้านหน้ามีรูปพานรัฐธรรมนูญ ที่แปลกก็คือ บางบล็อคก็มีรูปพานรัฐธรรมนูญพร้อมปีพ.ศ. แต่บางบล็อคมีแต่ตัวหนังสือปี พ.ศ. พี่วิทยากรเล่าว่า แต่ละบล็อคนั้นแทนด้วยจำนวนรัฐธรรมนูญที่ประเทศไทยเคยมีมาทั้งหมด 18 ฉบับ โดยปีที่ไม่มีรูปพานรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเพราะเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งเกิดหลังจากการรัฐประหาร
แม่อ้อไปอ่านเพิ่มได้ความว่า การมีรัฐธรรมนูญตั้ง 18 ฉบับนั้นแสดงถึงความไม่มั่นคงทางการเมืองของประเทศไทย รัฐประหารทีหนึ่งก็จะยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิม และร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้น พอมีการเลือกตั้งและร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นมาได้ ก็จะมีการรัฐประหารอีก เป็นอย่างนี้มาตลอด 79 ปีของประชาธิปไทยประเทศไทย เฉลี่ยแล้วรัฐธรรมนูญไทยมีอายุฉบับละ 4 ปีเท่านั้น แต่ที่อเมริกานั้น…เค้ามีฉบับเดียวเลยค่ะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2332 จนถึงปัจจุบันสองร้อยกว่าแล้วค่ะ เค้าจะมีแต่การปรับปรุงเฉพาะส่วนที่จำเป็นให้เหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปตามเวลาเท่านั้น
เราก็เดินกลับไปที่ด้านล่างของตึกรัฐสภากันอีกครั้ง เพื่อให้เด็กๆได้บันทึกประวัติพระที่นั่งอนันตสมาคมที่มีการจัดแสดงอยู่
เด็กๆนั่งบันทึกกันเต็มที่เลยค่ะ ใครเดินผ่านไปมาก็ต้องหันมามองด้วยความเอ็นดูในความตั้งใจบันทึก
พอเที่ยงปุ๊บเราก็เดินไปที่ห้องอาหารรัฐสภา วันนี้เราเลยได้นั่นทานอาหารกันอย่างไฮโซค่ะ(ทุกทีจะปูเสื่อนั่งกับพื้นค่ะ) มีโต๊ะเก้าอี้อย่างดี ติดแอร์เย็นฉ่ำ
ท่ามกลางผู้คนมากมาย เด็กๆงัดกล่องข้าวมานั่งทานกันอย่างเอร็ดอร่อย
สุดท้ายแม่อ้อขอจบด้วย ส่วนหนึ่งของพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ค่ะ
“เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนากับพวกได้ทำการยึดอำนาจการปกครองโดยใช้กำลังทหารในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้วได้มีหนังสือมาอัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้น เพราะเข้าใจว่าพระยาพหลฯและพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญตามแบบอย่างประเทศทั้งหลายซึ่งใช้การปกครองตามหลักนั้น เพื่อให้ประชาราษฏรได้มีสิทธิที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่างๆ อันจะเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในวิธีการเช่นนั้นอยู่แล้ว และกำลังดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปนั้น โดยมิให้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง
เมื่อมามีเหตุรุนแรงขึ้นเสียแล้ว และเมื่อผู้ก่อการรุนแรงนั้นอ้างว่ามีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น ก็เปนอันไม่ผิดกับหลักการที่ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นควรโน้มตามความประสงค์ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ ข้าพเจ้าพยายามช่วยเหลือในการที่จะรักษาความสงบราบคาบเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญนั้นเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเปนได้ แต่ความพยยามของข้าพเจ้าไร้ผล โดยเหตุที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองหาได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่ และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฏรโดยแท้จริง
ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคลและหลักความยุตติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของเข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผูใดคณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นองข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฏรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฏร
บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าเพเจ้าที่จะให้ราษฏรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เปนผลสำเหร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เปนอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ หรือให้ความคุ้มครองแก่ประชานได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ
และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เปนต้นไป
ข้าพเจ้าไม่มีประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใดให้เปนผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิจะทำได้ตามกฏมณเฑียนบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์
…
ข้าพเจ้ามีความเสียใจเปนอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยขน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ตามความตั้งใจและความหวังซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตย์อธิษฐาน ขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญ และขอประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขสบาย.
“
ข้อมูล
http://www.parliament.go.th
http://th.wikipedia.org/wiki/คณะราษฎร
http://th.wikipedia.org/wiki/รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
รูปเพิ่มเติม http://mamaaor.multiply.com/photos/album/99#