29 กรกฏาคม 2554
สัปดาห์นี้เราไปทัศนศึกษากันที่วัดพระแก้ว อยู่กันใกล้แค่นี้ข้ามสะพานปิ่นเกล้าไปก็ถึงแล้ว แต่จริงๆแล้วไกลแค่ไหนแม่อ้อไม่หวั่น แต่เวลาที่ไม่มีที่จอดรถนี่สิ กลุ้มใจค่ะ แต่แม่อ้อมีพี่ยุทธซึ่งเป็นคนขับรถของแม่หลินเป็นที่พึ่งเสมอ พี่ยุทธคล่องแคล่วรู้ทางและที่จอดรถไปหมด แต่ยกเว้นวัดพระแก้วค่ะ หมดมุขกันจริงๆ พอส่งเด็กๆที่วัดพระแก้วตรงประตูฝั่งศิลปากรแล้ว สุดท้ายเลยต้องไปจอดไกลถึงมิวเซียมสยาม แล้วแม่อ้อกับพี่ยุทธก็นั่งตุ๊กๆกลับมาที่วัดพระแก้ว
วันนี้คนเต็มวัดพระแก้วแน่นเต็มไปหมด ทั้งคนต่างชาติและคนไทย และแดดก็แรงเหลือเกิน เมฆหายไปไหนหมดก็ไม่รู้ กว่าจะเดินหาเด็กๆเจอก็หลังแม่อ้อก็ชุ่มไปด้วยเหงื่อแล้วค่ะ
ไปถึงก็เห็นเด็กๆกำลังฟังบรรยายจากลุงเยื้อง วิทยากรอารมณ์ดีของเรา
กลุ่มเราต้องหลบอยู่ในร่มของศาลาที่มีอยู่อันน้อยนิด โดยเราแบ่งร่มเงากับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ไกด์เค้ามีเสียงอันทรงพลังมากค่ะ ลุงเยื้องเราก็สู้ไม่ถอย ฮ่า ฮ่า
แล้วเราก็ทิ้งร่มเงาอันน้อยนิด เดินฝ่าแดดมาดูยักษ์กัน เฮ้อ..ดูฟ้าสิคะ เมื่อวานล่ะครึ้มทั้งวัน วันนี้แดดเปรี้ยง เข้าสู่โหมดไก่ย่างถูกเผาโดยแท้
แต่เด็กๆกับคุณครูสู้ไม่ถอยค่ะ ยืนฟังลุงเยื้องอย่างไม่หวั่น
ต่อมาลุงเยื้องพาเด็กๆมาดูจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเป็นเรื่องรามเกียรติ์กันค่ะ เด็กๆคุ้นเคยกับเรื่องรามเกียรติ์ดี เพราะเคยเล่นโขนกันเมื่อปีที่แล้ว
รูปฝาผนังนี้แบ่งเป็นห้องค่ะ 1 ห้องก็ 1 ภาพ มีทั้งหมด 178 ห้อง โดยห้องแรกจะเริ่มต้นที่กำเนิดนางสีดา ซึ่งเด็กๆรีบเล่าก่อนเลยว่า นางสีดาเป็นลูกทศกัณฑ์!
เด็กๆสนใจภาพวาดกันมากค่ะ ยืนมองและสังเกตแม้แต่สัตว์ตัวเล็กๆอย่างตุ๊กแก
จากนั้นลุงเยื้องก็พาเด็กๆเดินผ่านหอระฆัง ซึ่งจะถูกตีก็ต่อเมื่อมีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชคนใหม่เท่านั้น
ต่อมาเราไปกันที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ซึ่งไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปด้านใน แม่อ้อเลยไม่มีรูปมาอวด มีแต่รูปด้านนอกที่เด็กๆเห็นกลองมโหรทึกแล้วตื่นเต้นกันใหญ่
จุดต่อมาคือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
เราได้เดินดูพิพิธภัณฑ์อาวุธด้านล่างกัน เด็กๆตื่นตากับอาวุธสมัยโบราณกันมาก วาดรูปกันใหญ่เลย
แต่แล้วน้องชุณฬี่ก็เดินมาบอกว่าปวดหู จับดูแล้วตัวร้อนด้วย ก็เลยต้องตามแม่มุกมารับกลับ โถ…หนูอึดมากเลยลูก อดทนอยู่ได้ทั้งเช้า แต่หนูก็ยังมีแรงชูนิ้วให้แม่อ้อถ่ายได้หนึ่งรูป
ลุงเยื้องแนะนำให้เด็กๆนั่งทานข้าวกันที่มุมหนึ่งของวัดพระแก้วค่ะ เป็นมุมที่ไม่ค่อยมีคนเดินผ่าน มีตู้น้ำ และขยะพร้อม
เราก็เลยได้นั่งทานข้าวข้างๆภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์กันเลยค่ะ
ดูธีธัชกินแซนด์วิชสิคะ แม่เห็นแล้วจะเป็นลม ทำไมมันปากกว้างอย่างนั้นล่ะลูกเอ๋ย… แล้วต้องแบ่งกินกันกับพี่แพมไม่ใช่เหรอ แล้วพี่แพมจะได้กินมั้ยเนี่ย
หลังจากเด็กๆอิ่มข้าวแล้ว คุณครูก็ให้โจทย์ว่าให้เด็กบันทึกภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์ห้องที่ตัวเองชอบ
สาวแคทเลือกบันทึกตอนนางเบญจกายลอยน้ำ
ธีธัชกับจั้งบันทึกตอนหนุมานอมพลับพลาของพระราม
เด็กๆมีเวลาชื่นชมและอิ่มเอมกับภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์กันเต็มที่ค่ะ
ไม่รู้ยังไง สุดท้ายเด็กๆมารวมกันที่ภาพหนุมานอมพลับพลากันหมดเลย
ชาวต่างชาติเดินไปมาก็สนใจในเด็กๆมากค่ะ ถ่ายรูปเด็กๆกันใหญ่
แม่อ้อประทับใจในลายเส้นต้องจั้ง ป.1 มากค่ะ สุดยอดมากเลยค่ะ
ของเม็กก้าก็ไม่เบา
ฝีมือของพี่ทิม ป.4
ฝีมือธีธัช ป.2
พอถึงเวลาบ่ายสอง เราก็เก็บของกลับบ้านกัน เพราะเมฆฝนที่เราไม่เห็นเลยในช่วงเช้า เริ่มตั้งเค้ามาแล้วค่ะ
แล้วสิ่งที่รอคอยของทัศนศึกษาครั้งนี้ก็มาถึงค่ะ การนั่งตุ๊กๆ!!!
เด็กๆหลายคนไม่เคยนั่งตุ๊กๆค่ะ รวมทั้งธีธัชด้วย ฮ่า ฮ่า เด็กๆก็เลยตื่นเต้นกันใหญ่
เราต้องแบ่งรถออกเป็น 4 คันค่ะ ไม่ต้องห่วงค่ะ เรามีผู้ใหญ่นั่งไปด้วยทุกคน
พี่ยุทธได้แสดงความไวให้เด็กๆได้เห็นด้วยค่ะ โดยคว้าเอาหมวกของน้องจั้งที่ลอยมาจากตุ๊กๆคันข้างหน้าไว้ได้!! โอ้โฮ..เป็นจอมยุทธเลยนะคะเนี่ย
พอดีที่มิวเซียมสยามมีนิทรรศการจากภาคใต้ เด็กๆเลยโชคดีได้ร่วมกิจกรรมทำการ์ดจากใบไม้สีทอง หรือ ย่านดาโอ๊ะ ซึ่งเป็นใบไม้มงคลจากป่าลึกซึ่งเวลาจะเก็บต้องขออนุญาตจากวนอุทยานฯ
เป็นใบไม้ใหญ่และมีขนละเอียดนุ่มเหมือนกับกำมะหยี่เลยค่ะ สีมันวาวเหมือนสีทองตามชื่อเลยค่ะ
เด็กๆยังได้ดูเรือกอและจำลองกันอย่างใกล้ชิด
สีสันสดใสมากเลยค่ะ
พอพี่แพมเห็นภาพศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ก็ตื่นเต้นบอกว่าหนูรู้ประวัติด้วยค่ะ แล้วแพมก็เริ่มเล่าเรื่องศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับมัสยิดกรือเซะ เด็กๆและคุณครูเลยตั้งใจฟังกันใหญ่เลย พี่แพมเลยเป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์ของเราไปเลย
เจ๋งสุดๆไปเลยค่ะน้องแพม ขนาดพี่เจ้าหน้าที่ของนิทรรศการ(พี่เค้าใส่เสื้อสีดำค่ะ)ยังตบมือให้เลยค่ะ
แล้วก่อนที่ฝนจะตกเราก็ต้องรีบกลับไปเก็บงานต่อที่บ้านปฐมธรรมค่ะ
ดูรูปที่เหลือได้ที่ http://mamaaor.multiply.com/photos/album/101
ข้อมูลเพิ่มเติม:
เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/st2545/5-5/no26/51.htm